“ฉันกลัวมากเลย ไม่มีเวลาซ้อม ต้องทำออกมาไม่ดีแน่ ๆ”
“นอนไม่หลับทั้งคืนเลย วันนี้มีนำเสนองานกับผู้บริหารระดับสูง กลัวพลาด”
“งานเยอะมาก แบบนี้ทำไม่ทันเดดไลน์แน่”
“ทำงานพลาดไปเมื่อวาน จะโดนไล่ออกมั้ยนะ”
คุณเคยตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้บ้างรึเปล่า อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความวิตกกังวลและความเครียด ซึ่งระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับคน เป็นผลมาจากนิสัย บุคลิกภาพ และประสบการณ์ในอดีตของคนคนนั้น
“ฉันกลัวมากเลย ไม่มีเวลาซ้อม ต้องทำออกมาไม่ดีแน่ ๆ”
“นอนไม่หลับทั้งคืนเลย วันนี้มีนำเสนองานกับผู้บริหารระดับสูง กลัวพลาด”
“งานเยอะมาก แบบนี้ทำไม่ทันเดดไลน์แน่”
“ทำงานพลาดไปเมื่อวาน จะโดนไล่ออกมั้ยนะ”
คุณเคยตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้บ้างรึเปล่า อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความวิตกกังวลและความเครียด ซึ่งระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับคน เป็นผลมาจากนิสัย บุคลิกภาพ และประสบการณ์ในอดีตของคนคนนั้น
ความวิตกกังวลเป็นปัญหาทางจิตใจอย่างหนึ่งซึ่งรบกวนอารมณ์ การใช้ชีวิต และเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางสุขภาพจิตได้อีกด้วย โดยเฉพาะคนทำงานที่มีโอกาสเกิดความวิตกกังวลได้สูงมาก
ความวิตกกังวลคือ อารมณ์และความรู้สึกที่กดดัน ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สบาย ส่งผลไปถึงปฏิกิริยาทางร่างกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยมากมักเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่บุคคลนั้นรู้สึกถูกคุมคามหรือไม่ปลอดภัย และมักเป็นการคิดไปก่อนล่วงหน้าว่าอาจจะเกิดปัญหาหรือเรื่องเลวร้ายขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่ถูกควบคุมด้วยความคาดหวังหรือ KPIs จากหัวหน้า องค์กร หรือลูกค้า
อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ ร่างกาย และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ ข้อดีคือช่วยให้บุคคลนั้นเตรียมตัวให้พร้อมหรือมีแผนสำรองในการทำสิ่งต่าง ๆ แต่สำหรับบางคน ระดับความวิตกกังวลอาจสูงมากไปจนกระทั่งกระทบกับสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล (General Anxiety Disorder) โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือโรคกลัวโดยไร้เหตุผล (Phobia) รวมถึงการใช้ชีวิตอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีนิสัยวิตกกังวลบ่อยก็จะยิ่งเกิดผลเสีย ไม่เฉพาะแต่สุขภาพจิต แต่ยังส่งต่อไปถึงสุขภาพกาย และความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ อีกด้วย

อาการที่มักเกิดเวลาที่คนเราวิตกกังวล
📌 กระสับกระสาย หรือมีความรู้สึกกังวล
📌 ความรู้สึกกังวลที่เกินควบคุม
📌 มีภาวะโมโหง่าย ฉุนเฉียวมากขึ้น
📌 ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ
📌 นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท
สาเหตุที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล
สาเหตุของความวิตกังวลนั้นเกิดจากหลายด้าน เช่น
📝 สถานการณ์แวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด เช่น งานที่ยากและกดดันมากเกินไป ปัญหาความสัมพันธ์ในที่ทำงานหรือส่วนตัว
📝 บุคลิกภาพและนิสัยบางอย่างของบุคคลนั้น เช่น การมองโลกในแง่ร้าย นิสัยชอบคิดมาก คิดวกวน เป็นต้น
📝 พันธุกรรม หากใครมีคนในครอบครัวมีภาวะหรือโรควิตกกังวลก็มีแนวโน้มที่จะทำให้คนคนนั้นวิตกกังวลสูงตามไปด้วย
📝 การใช้ยาบางชนิดหรือการรักษาบางโรคที่กระตุ้นความวิตกกังวล
📝 สารในสมอง ที่อาจเกิดภาวะผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนหรือกระแสไฟฟ้าในสมอง
กลยุทธ์ในการจัดการกับความวิตกกังวล
1. ปรับหรือมองความคิดและความเชื่อของตัวเองใหม่ ตามทฤษฎีของ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) แนวคิดการบำบัดบด้วยความคิดและพฤติกรรม มองว่า ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์กระตุ้นขึ้น และผลลัพธ์ปลายทางคือความรู้สึกวิตกกังวลของคนเรา มีสิ่งหนึ่งที่คั่นกลาง นั่นคือ ความคิดและความเชื่อบางอย่าง ที่ตีความเหตุการณ์กระตุ้นเหล่านั้นให้เป็นไปในทางร้าย โมเดลที่ว่านั้น คือ โมเดล A->B->C
A = Activating event เหตุการณ์ที่กระตุ้น
B = Beliefs ความเชื่อ ความคิด การตีความ และมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์นั้น
C = Consequence ผลลัพธ์ทางอารมณ์ พฤติกรรม และปฏิกิริยาทางร่างกายที่สะท้อนถึงความวิตกกังวล
ในทาง CBT เชื่อว่า หากคนเราสามารถเปลี่ยนที่ตัว B (Belief) ได้แล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น หรือตัว C (Consequence) ก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น
เหตุการณ์กระตุ้น (A) = หัวหน้าเรียกเข้าคุยส่วนตัวด่วนโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยในวันพรุ่งนี้
การตีความ (B) = ต้องโดนเรียกเข้าไปด่าแน่เลย เพราะเราทำงานได้ไม่ดี หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นจะให้ออก
ผลลัพธ์ (C) = เครียด กังวล นอนไม่หลับ ร้องไห้ ไม่มีสมาธิทำงาน
ดังนั้น หากต้องการจะแก้ไขความวิตกกังวล แนะนำให้กลับไปทำงานกับ การตีความ (B) ใหม่ โดยการตั้งคำถามเพื่อท้าทายความคิดตัวเองว่า
“อะไรที่ทำให้เราคิดว่าหัวหน้าจะเรียกเข้าไปด่า มีหลักฐานสนับสนุนตรงไหน
แล้วที่เราคิดว่าเราทำงานไม่ดี มีข้อพิสูจน์ตรงไหนที่บ่งบอกแบบนั้น หรือเราคิดไปเอง
หรือหากหัวหน้าไม่ได้จะเรียกเข้าไปด่า มีโอกาสอื่นอีกมั้ยที่หัวหน้าเรียกเราเข้าไปคุยส่วนตัว” เป็นต้น
เมื่อคุณสามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดและเกิดมุมมองใหม่ ๆ ขึ้นแล้ว ผลลัพธ์ (C) ด้านอารมณ์ความรู้สึกก็จะผ่อนคลายขึ้น
2. ใช้กลยุทธ์ Worst-case scenario คือ นึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้นในระดับที่เลวร้ายที่สุดอยู่ตรงไหน แล้วลองคุยกับตัวเองดูว่า หากเกิดขึ้นจริง ตัวเราเองจะมีวิธีการรับมือหรือมีทางเลือกอะไรบ้าง เมื่อมองเห็นปลายทางในแง่ที่เลวร้ายที่สุดแล้ว และเรามีทางออก ความวิตกกังวลก็จะลดลงไป
3. มองหากลยุทธ์การผ่อนคลายความวิตกกังวลของตัวเอง เช่น สร้าง Music Playlist หรือเพลย์สิสต์เพลงในสมาร์ทโฟน หรือกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เช่น การออกไปเดินเล่น การเดินไปพูดคุยเล่นกับคนอื่น ๆ ที่ทำให้ผ่อนคลาย หรือการดูคลิปที่ตลกหรือน่ารัก เช่น คลิปน้องแมว น้องหมา เป็นต้น
4. มี Self-talk หรือคำพูดในการคุยกับตัวเอง ลองเสาะหาคำคมหรือประโยคที่เมื่อพูดกับตัวเองแล้วคุณรู้สึกมีกำลังใจหรือผ่อนคลายจากความกังวลมากขึ้น เช่น “ช่างมัน” “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” “เรารับมือกับมันได้อยู่แล้ว ไม่เกินความสามารถของเราหรอก” “มีคนอีกหลายคนที่พร้อมจะยื่นมือมาสนับสนุนช่วยเหลือเรา” เป็นต้น
5. กลับมาอยู่กับลมหายใจหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย และสังเกตสภาวะอารมณ์ของตัวเอง ความกังวลที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาทางร่างกายที่เกิดขึ้น เมื่อมองสิ่งเหล่านั้นอยู่ห่าง ๆ รวมทั้งดึงความคิดของตัวเองกลับมาอยู่กับลมหายใจหรือการเคลื่อนไหว ความคิดที่ชวนให้วิตกกังวลหลายอย่างก็จะลดหรือหายไป เพราะอย่าลืมว่าตัวกระตุ้นความเครียดและความกังวลคือความคิดของคุณเอง
เหล่านี้คือข้อแนะนำในการรับมือกับความวิตกกังวลตามแนวทางของ Cognitive Behavioral Therapy ลองเลือกวิธีที่เหมาะกับคุณไปใช้ดู และพิจารณาว่ากลยุทธ์ไหนที่เหมาะกับคุณ หรืออาจมีแนวทางอื่นที่ได้ผลกับคุณ หากมีกลยุทธ์ในการรับมืออย่างเหมาะสม สุขภาพจิตของคุณก็จะดีและมีความสงบสุขในชีวิตตามมา
ประวัติผู้เขียน
พิชาวีร์ เมฆขยาย
ผู้บริหาร iSTRONG Mental Health ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาองค์กร (M.Sc./B.Sc. Organizational & Industrial Psychology) ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาศักยภาพและ Mindset และ Positive Psychology Certified
You must be logged in to post a comment.