จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ต้อง Work From Home ทำงานที่บ้านเป็นเวลานาน ในฐานะที่พิชาวีร์ เป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตในองค์กร พอจะได้รับเสียงตอบรับจากคนในองค์กรมาว่า ในช่วงแรกรู้สึกว่าส่วนใหญ่จะบอกว่าชอบมาก สบายที่ไม่ต้องเดินทางเจอรถติด ไม่ต้องตื่นเช้าเกินไป หรือเสียเวลาแต่งตัวแต่งหน้านาน ๆ บางคนตื่นมาก็มาอยู่ที่หน้าจอได้เลยแทบจะทันที หรือบางคนก็บอกว่าอยู่ที่บ้านไม่ต้องถูกรบกวนสมาธิจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าบ่อย
จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ต้อง Work From Home ทำงานที่บ้านเป็นเวลานาน ในฐานะที่พิชาวีร์ เป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตในองค์กร พอจะได้รับเสียงตอบรับจากคนในองค์กรมาว่า ในช่วงแรกรู้สึกว่าส่วนใหญ่จะบอกว่าชอบมาก สบายที่ไม่ต้องเดินทางเจอรถติด ไม่ต้องตื่นเช้าเกินไป หรือเสียเวลาแต่งตัวแต่งหน้านาน ๆ บางคนตื่นมาก็มาอยู่ที่หน้าจอได้เลยแทบจะทันที หรือบางคนก็บอกว่าอยู่ที่บ้านไม่ต้องถูกรบกวนสมาธิจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าบ่อย
แต่พอเวลาผ่านไป ก็เริ่มมีเสียงบ่นถึง
1. ด้านความรู้สึกของตนเอง คือ ความเบื่อ เหนื่อยล้า การไม่มีสมาธิ บางคนไม่อยากทำงาน อยากนอน หรือทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงาน
2. ด้านปัจจัยแวดล้อม คือ อุปกรณ์การทำงานไม่พร้อมเหมือนทำงานที่ออฟฟิศ ทั้งสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ทำงานก็อาจไม่พร้อม สัญญาณอินเตอร์เน็ต บางคนอาศัยอยู่ห้องเช่า หรือคอนโดที่ไม่ได้มีพื้นที่มากนัก ทำให้ต้องแชร์พื้นที่กับสมาชิกคนอื่นในบ้าน หรือต้องนั่งทำงานที่โต๊ะรับประทานอาหาร ในหลายครั้งก็เริ่มบ่นว่าค่าไฟเพิ่มขึ้น รวมถึงการถูกรบกวนจากสมาชิกในบ้านเช่นลูก หรือไปรษณีย์ที่มาส่งของ พวก Food delivery ที่เราสั่งอาหาร เป็นต้น

ปัจจัยส่งที่ผลต่อความเครียดรวมถึงความวิตกกังวลเวลาทำงานที่บ้าน
1. การอยู่แต่ที่บ้าน แทบจะ 24 ชั่วโมง ซึ่งบางคนก็ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ที่มีบริเวณ การอยู่แต่ในห้อง หรือสถานที่จำกัดก็ยิ่งทำให้เครียด หากไปทำงาน ยังได้เดินทาง เปลี่ยนสถานที่บ้าง ถึงแม้จะเจอรถติดบ้าง แต่ก็ไม่ซ้ำ ๆ เท่ากับอยู่แต่บ้าน ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดแน่นอน
2. บางบ้านอาจมีความสัมพันธ์ที่แย่ลงหรือความขัดแย้ง มีสถิติว่ามีความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นระหว่างช่วงกักตัวตอนโควิดระบาดในยุโรป แม้กระทั่งสถิติการหย่าร้างก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เป็นทุกบ้าน แต่สำหรับบางบ้าน เมื่อความเครียดด้านอื่นมาประกอบด้วย และจากเดิมที่อาจไม่ได้เจอหน้ากันตลอด 24 ชั่วโมง ก็ยังพอมีเวลาให้หายใจโล่ง ๆ มีเวลาส่วนตัวได้บ้าง แต่พอต้องมากักตัวอยู่ด้วยกันตลอด บ้านก็อาจไม่ได้กว้างมาก การจะทำอะไรซักอย่างก็ต้องกระทบสมาชิกคนอื่นอยู่แล้ว ยิ่งบางบ้านมีลูกที่ต้องเรียนออนไลน์อีก ก็มีเรื่องให้ต้องจัดการเพิ่มขึ้นอีก เหล่านี้ก็กระตุ้นความเครียดให้กับทุก ๆ ฝ่ายในบ้านได้เช่นกัน
3. วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยได้ออกไปเที่ยวในวันหยุด กลับต้องกักตัวอยู่บ้าน หรือจะออกไปไหนทีก็ต้องสวมหน้ากาก ระวังการสัมผัสตลอดเวลา ยิ่งทำให้กดดันและหวาดระแวง ประกอบกับความกังวลต่อสถานการณ์ที่เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกเมื่อไหร่ ก็ทำให้คนเรามีความเครียดขึ้นมาได้มาก
4. ความไม่พร้อมของอุปกรณ์ในการทำงาน ในขณะที่เรายังถูกประเมินผลงานด้วยกฎเกณฑ์เท่าเดิม งานก็ต้องส่งหัวหน้าหรือลูกค้าเหมือนเดิม แต่ความพร้อมของอุปกรณ์ไม่มี บางบริษัทพนักงานไม่สามารถนำข้อมูลออกมาได้ หรือการจะเข้าเช็คอีเมล์ทีอาจจะวุ่นวาย เครื่องปริ๊นท์เตอร์ หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ ไวไฟ ก็ไม่สะดวกเหมือนทำงานอยู่ที่ทำงาน แบบนี้ก็จะยิ่งกดดันให้คนทำงานเครียดมากขึ้นไปอีก
5. การทำงานที่อาจทำให้ตารางชีวิตยุ่งเหยิงไปหมด น่าสังเกตว่ายิ่งทำงานที่บ้าน ยิ่งงานเยอะ ประชุมเยอะ บางที่หนักไปกว่านั้นคือ ต้องเปิดกล้องเวลาทำงาน หรือต้องเช็ค location เพื่อให้แน่ใจว่านั่งทำงานอยู่หน้าจอจริง ๆ ก็อึดอัด บางคนทำงานติดพัน เวลากินก็ไม่กิน เวลานอนก็ถูกเลื่อนออกไปจนดึกดื่น พอนาน ๆ เข้าจะยิ่งทำให้ตารางชีวิตยุ่งเหยิงไปกันใหญ่ หากใครไม่วางแผนและมีวินัยมาก ๆ เชื่อว่าจะเจอสิ่งเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงแต่ทำให้เครียด แต่ยังกระทบต่อสุขภาพกายด้วย พอสุขภาพกายแย่ สุขภาพใจก็แย่ตาม เป็นวงจรเกี่ยวพันกันไปไม่รู้จบ
จริง ๆ แล้วการทำงานที่บ้านก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะวันไหนที่ต้องประชุมงานเยอะ ๆ ผ่านวิดีโอคอลวันละหลายชั่วโมง มีงานวิจัยออกมาว่ามันสามารถส่งผลทำให้เกิดความเหนื่อยล้า (Zoom Fatigue) ได้ ซึ่งการประชุมออนไลน์ทำให้คนเราเหนื่อยล้าได้หลายด้าน เช่น
1. ด้านร่างกาย: ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวมาก ไม่ได้เดิน จะขยับตัวมากก็ไม่กล้า กลัวถูกมอง การเกร็งเพราะถูกจ้องมองมากกว่าการประชุมแบบอยู่ในสถานที่เดียวกัน ทำให้เราหายใจสั้นขึ้น ถี่ขึ้น ยิ่งทำให้คนเราต้องการออกซิเจนมากขึ้น และทำให้เรารู้สึกเหนื่อย สายตาเมื่อยล้าจากการจ้องจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ยิ่งถ้าตั้งความสว่างและหน้าจอเล็กเกินไป ก็ยิ่งทำให้คนเราต้องเค้นสายตามากขึ้น
2. ด้านความคิด: การประชุมออนไลน์ต้องใช้พลังในการฟัง จับใจความ คิดตาม โต้ตอบ หรือกระทั่งตัดสินใจ กิจกรรมเหล่านี้คุณต้องใช้พลังสมองและสมาธิเยอะมาก ไม่รวมถึงช่วงที่คุณกลับต้องเป็นฝ่ายนำเสนอซะเอง ก็ยิ่งใช้พลังในการเรียบเรียงคำพูด เพื่อสื่อสารออกไปให้คนอื่นเข้าใจให้ได้
3. ด้านอารมณ์จิตใจ: ความกังวลว่าการประชุมจะเกิดอุปสรรคอะไรหรือไม่ สัญญาณอินเตอร์เน็ต เสียงรบกวนจากรอบข้างอาจจะเข้าเสียงไมค์ กระทั่งกังวลว่าจะมีสมาชิกในบ้านเดินมาเข้าฉากด้วยรึเปล่า สำหรับทาสน้องหมาน้องแมวอาจจะรู้ซึ้งดี เวลาประชุมทีไรต้องมาส่งเสียงกวนทุกที บางงานวิจัยยังพบว่า เวลาเราเห็นภาพตัวเองบนหน้าจอ เราก็จะเพ่งมองหน้าตัวเองมากขึ้น นั่นยิ่งทำให้เราเริ่มวิจารณ์ตัวเองในความคิด
ทางออกในการลดอาการเหนื่อยล้าจากการวิดีโอคอลและการทำงานที่บ้าน
1. ต้องจัดตารางชีวิตแยกให้ชัด ระหว่างเวลาทำงานและเวลาพัก เหมือนกับตอนที่เราออกไปทำงานที่ทำงาน ต้องมีวินัยมากพอ เพื่อป้องกันไม่ให้คุณ Burnout ในระยะยาว รับประทานอาหารให้ตรงเวลา นอนให้ตรงเวลา มีเวลาทำงานอดิเรกที่ตัวเองเพลิดเพลิน รวมถึงออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
2. ตั้งเวลาให้ขยับร่างกายและเดินให้มาก เช่น ทำงานหนึ่งชั่วโมงครึ่ง พัก 15 นาที เดินออกไปดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ บางคนมีสวน เดินออกไปชมสวน ไปทำงานบ้าน เล่นกับลูก วิ่งเล่นกับน้องหมาน้องแมว เวลาต้องประชุมออนไลน์ อันไหนไม่จำเป็น ก็ขอปิดกล้อง ได้ยินแต่เสียงกันบ้าง ทุกคนจะได้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น อยู่ในท่าทางที่ตัวเองสบายมากขึ้น อยากเคลื่อนไหวหรือบิดขี้เกียจตอนไหนก็ทำได้
3. ปรับแสงหน้าจอ แสงในห้อง ไม่ให้มืดเกินไป มีแสงสะท้อนเข้าหน้าจอแล้วสะท้อนเข้าตาเราอีกทีมั้ย รวมถึงขนาดของใบหน้าคนที่เราสนทนาด้วย ให้พอดี ไม่ใหญ่เกินไป เช่น ไม่เปิดแบบ full screen คือปรับขนาดภาพให้เล็กลง ไม่ต้องนั่งใกล้จอมาก ออกห่างมากขึ้น และมีอิริยาบถที่ปรับเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น สำหรับส่วนที่ไม่ได้โชว์อยู่บนจอ
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนจงมีความหวังและหมั่นดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะได้มีแรงที่จะไปดูแลคนรอบข้างให้พวกเขาปลอดภัยและมีความสุขแม้ในท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการระบาดช่วงนี้นะคะ
ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ
ประวัติผู้เขียน
พิชาวีร์ เมฆขยาย
ผู้บริหาร iSTRONG Mental Health ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาองค์กร (M.Sc./B.Sc. Organizational & Industrial Psychology) ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาศักยภาพและ Mindset และ Positive Psychology Certified
You must log in to post a comment.