ปัญหาความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน เป็นหนึ่งในสาเหตุสุดคลาสสิคที่ทำให้อยากลาออก บางคนบอกเลยว่างานที่ทำอยู่โอเคมาก เงินดี มีความก้าวหน้า แต่เรื่องคนนี่แหละที่ทำให้อยู่ต่อไม่ไหว... บทความนี้เลยอยากชวนทุกคนทำความเข้าใจ "เรื่องคน" มากขึ้นด้วย 4 mindsets จากทฤษฎีทางจิตวิทยา รับรองว่าจะทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้นแน่นอน
สุขภาวะในการทำงานที่ดีข้อหนึ่ง คือ Relationship หรือความสัมพันธ์ที่ดี เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ในการทำงาน เพราะคนเราต้องสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา หากเราดันมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน การทำงานก็จะยิ่งยากเข้าไปอีก

ผู้เขียนเคยแอบได้ยินคนบ่นบ่อย ๆ ว่า งานโอเคมาก ๆ แต่เบื่อคน หรือพนักงานจำนวนมากก็ลาออกเพราะคน ดังนั้นสิ่งที่ผู้เขียนอยากมาแบ่งปันสิ่งแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราสื่อสารกันได้เข้าใจกันมากขึ้น เปิดใจกันมากขึ้น นั่นคือกรอบความคิด หรือ Mindset ในการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันก่อน ซึ่ง Mindset ที่ว่านี้เรียกว่า I’m OK – You’re OK.
อธิบายคร่าว ๆ ก่อนว่า มันคือ mindset ที่เรามองตัวเองและมองคนที่เราสื่อสารและทำงานด้วยอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าเรามองแบบไหนมันจะสื่อออกมาผ่านน้ำเสียง ท่าทาง การกระทำ ของเราหมดเลย แม้กระทั่งแววตา แน่นอนว่าคนเราสัมผัสได้ แม้เราจะพยายามปกปิดความรู้สึกไว้แค่ไหนก็ตาม ซึ่งในที่นี้ เราจะแบ่งสถานการณ์ออกเป็น 4 แบบ ที่ประยุกต์ใช้ในบริบทการทำงาน จากทฤษฎี Transactional Analysis ของ จิตแพทย์ Eric Berne เพื่อให้เห็นภาพ เราไปเริ่มที่แบบแรกกัน
1) I’m not OK – You’re not OK (ฉันไม่เก่ง เธอเองก็เช่นกัน)
การมองโลกที่เศร้าที่สุด เพราะคนแบบนี้จะไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่เชื่อมั่นอะไรในตัวเองเลย คือ I’m not OK. ฉันไร้ความสามารถ ฉันทำไม่ได้ ปัญหามันยากไป ฉันทำไม่ได้หรอก แถมยังมองคนอื่นแบบนั้นด้วยเช่นกัน คือ You’re not OK. คุณก็ไม่เก่ง คุณก็จัดการปัญหานี้ไม่ได้หรอก “โปรเจคนี้มันยากไป ทั้งฉันและคุณไม่มีใครจะทำมันไหวหรอก อย่าทำเลย”
ลองจินตนาการดูว่าหากทีมงานของคุณมีคนแบบนี้จำนวนมาก เวลาที่จะเสนอริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ครั้งไหน ก็คงจะมีแต่คนคอยห้ามปราม และชี้ให้เห็นแต่อุปสรรคและจุดที่ยาก ทำไม่ได้
อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วเรามักไม่ค่อยได้พบเห็นคนกลุ่มนี้ เพราะมักจะแยกตัว ไม่ค่อยสุงสิงมีสังคมกับเพื่อนร่วมงาน คิดว่าโลกนี้ไม่มีใครเข้าใจเขา เศร้าอยู่ในโลกอ้างว้างของตัวเอง และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า
คำแนะนำสำหรับคนกลุ่มนี้คือ ลองมองหาใครที่ไว้ใจได้ แล้วพูดคุยกับเขาดู หรือจะลองคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องจิตใจป่วย แต่เดี๋ยวนี้คนเราก็ต้องมีไปหาหมอใจกันทั้งนั้น ในเวลาที่เรารู้สึกไม่สบายใจและต้องการใครสักคนมาให้คำปรึกษา
2) I’m not OK – You’re OK (ฉันไม่เก่ง แต่เธอมีดีทุกอย่าง)
การมองโลกแบบตัวเองไม่เก่ง ด้อยค่าตัวเอง I’m not OK. แต่กลับมองว่าคนอื่น ๆ เก่งหมด มีความสามารถไปหมด You’re OK. คนกลุ่มนี้มักจะไม่มั่นใจในตัวเอง จะรับงานอะไรที่ดูท้าทายความสามารถหน่อย งานที่ไม่เคยทำ จะไม่ค่อยกล้ารับทำ เพราะกลัวว่าจะทำไม่ได้ เวลาอยู่ในการประชุมหรือการพูดคุยก็มักจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เพราะกลัวว่าความคิดของตัวเองจะถูกมองว่า ไม่ได้เรื่อง ดังนั้นจึงมักจะเออออตามคนอื่นไปหมด
ผลลัพธ์คือไม่มีความสุขกับตัวเอง self-esteem ต่ำ ในการสื่อสารพวกเขารับฟังคนอื่นก็จริง แต่ตัวเองกลับไม่กล้าแย้ง ไม่กล้าเสนอความคิดที่อาจจะดีก็ได้ ทำผลงานอะไรไปก็ไม่กล้าบอกคนอื่น สุดท้ายบางคนอาจมักถูกคนอื่นนำตลอด อาจมีโดนคนอื่นแย่งผลงาน แย่งซีนไป ในการทำงานร่วมกันมันดูสงบสุขก็จริง แต่ข้างในของคนคนนั้นไม่มีความสุข แล้วอาจจะระเบิดออกมาวันไหนก็ได้
คำแนะนำคือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองขึ้นมาให้ได้ก่อน รวมถึง Growth Mindset โดยกลับไปทบทวนว่า ที่ผ่านมาคุณทำอะไรสำเร็จมาบ้าง ให้เครดิตตัวเอง ชมตัวเองบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ตำหนิแล้วก็มองหาแต่ข้อด้อยตัวเอง มองหาข้อดีดีกว่า และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด เพื่อจะได้ให้คุณมีความสมดุลในใจ มีความสุขกับตัวเอง แล้วการสื่อสารและทำงานร่วมกันก็จะดีตามไปด้วย
3) I’m OK – You’re not OK (ฉันเก่ง แต่เธอไม่)
เป็นกลุ่มที่ตรงข้ามกับคนแบบที่สอง คือ เขากลับมองตัวเองว่า เก่ง ดี มีความมั่นใจในตัวเอง เรียกว่า I’m OK. แต่คนอื่นนั้นไม่เก่งเท่าหรืออาจจะมองว่านิสัยไม่ดี คือ You’re not OK. สิ่งที่เกิดขึ้นในการทำงานร่วมกันคือ คนกลุ่มนี้มักจะไม่ฟังความคิดเห็นของใคร ไม่รับคอมเม้นต์ ไม่รับคำวิจารณ์ อาจมีพฤติกรรมอดทนฟังใครพูดจนจบไม่ได้ ชอบตัดบท ชอบตอบสวนในขณะที่คนอื่นกำลังพูด ทำให้การสื่อสารระหว่างกันไม่ดีและเกิดความไม่เข้าใจกัน ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ไม่ดีตามมาอีก ดีไม่ดีอาจเกิดความไม่ชอบขี้หน้ากัน เกิดความขัดแย้งกันขึ้นมาได้
คำแนะนำคือ ต้องลองหันมามองข้อดีของคนอื่นบ้าง เคารพในความแตกต่าง เคารพในข้อดีและความสามารถกันและกัน และฝึกที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ ในการทำงานเป็นทีม แล้วเราจะได้รู้จักและเข้าใจมุมมองของคนอื่นได้มากขึ้น อย่าลืมว่า คนทำงานร่วมกันควรมี Empathy คือเข้าอกเข้าใจกันบ้าง แล้วการทำงานเป็นทีมจะยอดเยี่ยมขึ้นไปอีก
4) I’m OK – You’re OK (ฉันเก่ง เธอก็เก่ง)
เป้าหมายสุดท้ายในการพัฒนาให้เราทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข คือกรอบความคิดแบบ I’m OK – You’re OK. เราเคารพตนเอง มั่นใจในตัวเอง ขณะเดียวกันเราก็เคารพคนอื่นด้วย ให้เกียรติเวลาทำงานด้วยกัน เรารับฟังว่าเขาคิดเห็นอย่างไร และเราก็กล้าที่จะเสนอความคิดของเราไปด้วย ถ้าทุกคนมีกรอบความคิดแบบนี้ เวลาสื่อสารกัน เราก็จะเข้าใจกันมากขึ้น ลดความขัดแย้ง และเราก็จะมีความสงบสุขในการทำงาน รวมทั้งต่างคนต่างกล้าที่จะพูดความคิดเห็นของตัวเองออกมา ท้าทายความคิดกัน จนเกิดเป็นทางออกหรือผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ไม่ใช่ความคิดของคนที่เสียงดังที่สุดหรือมีอำนาจมากที่สุดในห้องเท่านั้น
อยากฝากทุกคนเรื่องกรอบความคิดแบบ I’m OK – You’re OK. ไว้ด้วยนะคะ เรื่องนี้ใช้ได้แม้กระทั่งกับครอบครัว เพื่อนสนิท หรือกับคนอื่น ๆ ถ้าเราเป็นแบบนี้ได้ ความสัมพันธ์กับใครก็จะดีแน่นอนค่ะ เพราะมันแสดงถึงความสมดุลทางอารมณ์ของเราด้วย นี่คือเป้าหมายในการพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ของเราทุกคน
ประวัติผู้เขียน
พิชาวีร์ เมฆขยาย
ผู้บริหาร iSTRONG Mental Health ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาองค์กร (M.Sc./B.Sc. Organizational & Industrial Psychology) ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาศักยภาพและ Mindset และ Positive Psychology Certified
You must be logged in to post a comment.