คุณกำหนดความก้าวหน้าในอาชีพของคุณอย่างไร แต่ละคนอาจให้ความหมายของความก้าวหน้าในการทำงานแตกต่างกัน สำหรับบางคนอาจหมายถึงการโตขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูง ในขณะที่บางคนต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ถนัด แต่ไม่ว่าคุณจะกำหนดความก้าวหน้าในการทำงานของคุณอย่างไร เราเชื่อว่า 5 เคล็ดลับดังต่อไปนี้จะช่วยพาคุณไปสู่ความก้าวหน้าในการทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น
1. กำหนดเป้าหมายในการทำงาน
จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการกำหนดเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของคุณ โดยลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ด “คุณอยากโตขึ้นไปทำตำแหน่งอะไรในอนาคต” หรือ “คุณอยากจะก้าวหน้าในอาชีพการงานมากแค่ไหน” หากคุณตอบคำถามเหล่านี้ได้ คุณก็จะสามารถวางแผนขั้นตอนต่อไปและตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น เทคนิคที่เราอยากแนะนำในการกำหนดเป้าหมายในการทำงานเรียกว่า SMART Goal ซึ่งหมายถึง Specific (มีเป้าหมายชัดเจน), Measurable (สามารถวัดผลได้), Achievable (มีความเป็นไปได้), Relevant (สอดคล้องกับเป้าหมายหรือผลลัพธ์), Time-bound (สามารถจำกัดระยะเวลาได้) ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการเป็นผู้จัดการ คุณสามารถทำได้โดย:
S (specific): ฉันอยากโตขึ้นไปเป็นผู้จัดการ
M (measurable progress): ฉันจะเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้จัดการและขอรับผิดชอบงานโปรเจกต์เพิ่ม เพื่อแสดงความพร้อมในการแบกรับความรับผิดชอบที่มากขึ้น
A (achievable): ฉันมีผลงานที่ดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และฉันก็มั่นใจในการทำงานของฉัน ฉันรู้ว่าบริษัทของฉันกำลังมองหาผู้จัดการในแผนกของฉันในช่วงสิ้นปีนี้
R (relevant): ฉันอยากท้าทายตัวเองและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ
T (time-bound): ฉันจะเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้จัดการภายใน 4 เดือนและขอรับงานโปรเจกต์เพิ่มภายใน 2 สัปดาห์หน้า หลังจากนั้นฉันจะส่งใบสมัครตำแหน่งผู้จัดการ
2. รู้จักจุดแข็งของตัวเอง
สิ่งสำคัญคือการระบุจุดแข็งของตัวคุณเองให้ได้หรือสิ่งที่คุณทำได้ดี เพื่อที่คุณจะได้พัฒนาจุดแข็งเหล่านั้นเพิ่มเติมและนำไปต่อยอดในการทำงานได้ การใช้จุดแข็งจะช่วยให้คุณประหยัดเวลาในการทำงานได้เยอะเลยทีเดียว เนื่องจากคุณมีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว เมื่อคุณพัฒนาจุดแข็งของคุณได้สำเร็จแล้ว คุณจะสามารถทำงานได้ดีขึ้นและรู้สึกมั่นใจในการทำงานของคุณมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะช่วยปูทางไปสู่ความก้าวหน้าในอาชีพของคุณ ลองทำลิสต์จุดแข็งต่าง ๆ ของคุณออกมาดู หรือหากคุณไม่แน่ใจว่ามีอะไรบ้าง ลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ดู “คนอื่นชมฉันเรื่องอะไรบ้าง” หรือ “สิ่งที่ฉันทำสำเร็จมีอะไรบ้าง” สำหรับความสำเร็จของคุณ อาจเป็นการทำงานให้เสร็จตรงเวลา ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน การเป็นกำลังสำคัญในการทำให้โปรเจกต์ได้รับการอนุมัติ และอื่น ๆ คำถามเหล่าจะช่วยให้คุณสามารถระบุจุดแข็งของตัวเองได้ง่ายขึ้น เช่น คุณอาจพบว่าตัวเองสามารถจัดการเวลาได้ดี เป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น เป็นคนขยัน หรือถ้าหากคุณยังไม่ได้คำตอบ ลองขอให้เพื่อนร่วมของคุณหรือคนที่รู้จักคุณเป็นอย่างดีช่วยระบุจุดแข็งของคุณก็ได้นะ เพราะคนอื่นมักจะสามารถมองเห็นจุดแข็งของคุณได้ง่ายกว่าตัวคุณเอง และเมื่อคุณระบุจุดแข็งของคุณได้แล้ว ให้มองหาวิธีพัฒนาจุดแข็งเหล่านั้นดู เช่น ขอเพิ่มงานในส่วนที่ทำให้คุณได้ใช้จุดแข็งของคุณ
3. เพิ่มความรู้และทักษะ
เวลาไม่เคยรอใครและสิ่งต่าง ๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เทคโนโลยีก็มีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ และมีอิทธิพลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหมั่นพัฒนาทักษะเดิม (upskill) และเพิ่มเติมทักษะใหม่ (reskill) อยู่เสมอเพื่อที่จะตามโลกให้ทัน ดังนั้น คุณจึงควรพัฒนาจุดแข็งของคุณต่อไปเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับการหาความรู้เพิ่มเติมและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ ให้กลายเป็นคนที่รอบรู้มากขึ้น เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน แน่นอนว่าปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงการที่ต้องทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณจึงต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ อาจมีบางครั้งที่คุณต้องคิดนอกกรอบและลองหาแนวทางใหม่ ๆ ในการทำงานบ้าง เพราะหากคุณคาดหวังผลลัพธ์ที่ต่างออกไปจากเดิม คุณก็ต้องไม่ทำแบบเดิมต่อไป อย่างที่ไอน์สไตน์ได้กล่าวไว้ หากคุณอยากเพิ่มพูนความรู้และทักษะของคุณ คุณสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ลองอาสาทำงานที่อยู่นอก comfort zone ของคุณ เรียนคอร์สออนไลน์ เข้าร่วมชมรมที่สามารถช่วยให้คุณฝึกฝนทักษะบางอย่าง เช่น ภาษาอังกฤษ การพูดในที่สาธารณะ และอื่น ๆ
4. รู้จักโปรโมตตัวเองและสร้างเครือข่าย
ทักษะการเข้าสังคมเป็นกุญแจสำคัญต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานของคุณ ความสามารถในการโปรโมทตัวเองด้วยความมั่นใจ รวมถึงความสามารถในการแสดงคุณสมบัติที่ดีทั้งหมดที่คุณมีจะทำให้ผู้คนเคารพคุณและนึกถึงคุณเมื่อพวกเขาต้องการจะโปรโมตใครหรือทำงานร่วมกับใครสักคน แทนที่จะแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่อกันและกันเพียงอย่างเดียว คุณควรหาเวลาในการสร้างความสัมพันธ์กับพวกเขาด้วย ซึ่งคุณสามารถทำได้โดย:
– การฟังอย่างตั้งใจ
– เตรียมคำถามดี ๆ ไว้เสมอ
– ให้ความสนใจกับชื่อของบุคคลและเรื่องที่สำคัญอื่น ๆ เกี่ยวกับพวกเขา
– ติดต่อกับพวกเขาอยู่เรื่อย ๆ
นอกจากนี้ เราแนะนำให้คุณลองพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนที่มีประสบการณ์มากกว่าคุณ และพยายามเรียนรู้จากพวกเขาให้ได้มากที่สุดว่า พวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง และอะไรที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ แล้วลองถอดบทเรียนออกมา นำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าในการทำงานของคุณไปปรับใช้ การอยู่กับคนที่ประสบความสำเร็จจะช่วยกระตุ้นให้คุณผลักดันตัวเองต่อไปในการมุ่งหน้าไปสู่การประสบความสำเร็จ
5. หาที่ปรึกษาที่ดี
การทำผิดพลาดและการเอาชนะความท้าทายนั้นคือส่วนหนึ่งของการไปสู่เป้าหมายหรือความสำเร็จ ซึ่งการหาที่ปรึกษาที่ดีจะช่วยคุณลดสิ่งเหล่านี้ลงไปได้ ในขณะเดียวกัน ก็จะช่วยให้คุณได้รับความรู้ในสายงานหรือตำแหน่งที่คุณสนใจได้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย ที่ปรึกษาคือผู้ที่มากด้วยประสบการณ์และได้ทำในสิ่งที่คุณสนใจจนประสบความสำเร็จแล้ว ดังนั้น พวกเขาจะสามารถแบ่งปันความรู้ ให้คำแนะนำที่ดี ให้แนวทางเพื่อช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมาย และเป็นแรงบันดาลใจให้คุณได้ คุณสามารถที่จะหาที่ปรึกษาในที่ทำงานปัจจุบันของคุณหรือในขณะที่คุณออกไปสร้างเครือข่ายข้างนอกก็ได้ ซึ่งในการตัดสินใจเลือกที่ปรึกษานั้น คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าบุคคลนั้นมีประสบการณ์ในด้านที่คุณสนใจอยากจะพัฒนาจริง ๆ หรือไม่ ดังนั้น เราจึงแนะนำว่าคุณควรเข้าไปทำความรู้จักกับบุคคลนั้นก่อนและดูว่าเคมีของคุณตรงกับบุคคลนั้นหรือไม่ หากคุณเจอคนที่เหมาะแล้ว ก็อย่าอายที่จะขอให้บุคคลนั้นเป็นที่ปรึกษาของคุณ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เขาจะสามารถช่วยให้คุณก้าวหน้าในการทำงานได้ และส่วนมาก เขาก็จะรู้สึกเป็นเกียรติที่ถูกขอนะ
นอกจากการทำงานได้ดีแล้ว การมีเป้าหมายในการทำงานนั้นเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อคุณต้องเผชิญหน้ากับปัญหาและความท้าทายในการทำงาน คุณจะมีเป้าหมายที่จะช่วยกระตุ้นให้คุณก้าวต่อไปได้ อีกทั้งระหว่างทาง คุณก็จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่จะทำให้คุณเติบโตและกลายเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นอีกด้วยนะ
References
https://www.lifehack.org/870683/career-advancement
https://www.indeed.com/career-advice/career-development/career-advancement
ประวัติผู้เขียน
Duanmanus Waraphaskul
Mental Health Consultant
M.A. Psychology in Education, Teachers College, Columbia University