8 วิธีเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง

“พรุ่งนี้ค่อยทำ” “เดี๋ยวก่อน” “เอาไว้ก่อน” คำเหล่านี้เป็นคำพูดติดปากของคนที่มีนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง นิสัยเสียสุดคลาสสิค ที่แก้ยากแต่แก้ได้ เราทุกคนล้วนต่างเคยเผชิญกับความรู้สึกอยากผัดวันประกันพรุ่งอยู่เสมอ เป็นนิสัยที่เกิดขึ้นได้ แม้แต่คนที่จัดระบบและตรงต่อเวลามากก็อาจเป็นได้ในบางครั้ง

“พรุ่งนี้ค่อยทำ” “เดี๋ยวก่อน” “เอาไว้ก่อน” คำเหล่านี้เป็นคำพูดติดปากของคนที่มีนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง นิสัยเสียสุดคลาสสิค ที่แก้ยากแต่แก้ได้
เราทุกคนล้วนต่างเคยเผชิญกับความรู้สึกอยากผัดวันประกันพรุ่งอยู่เสมอ เป็นนิสัยที่เกิดขึ้นได้ แม้แต่คนที่จัดระบบและตรงต่อเวลามากก็อาจเป็นได้ในบางครั้ง  

การผัดวันประกันพรุ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเราไม่ประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลเสียกับชีวิตไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัว หรือจะเป็นเรื่องการทำงาน ที่ทำให้คุณกลายเป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากปล่อยไว้ติดตัวจนแก่เฒ่า อาจทำให้คุณกลายเป็นคนที่ไม่มีคุณภาพไปโดยปริยาย การต่อสู้กับนิสัยและความคิดที่นำเราไปสู่การผัดวันประกันพรุ่งเป็นสิ่งที่ท้าทาย บทความนี้ขอนำเสนอ 8 วิธีเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง ดังนี้

1. ค้นหาว่าเพราะอะไรคุณถึงผัดวันประกันพรุ่ง

         เมื่อใดก็ตามที่คุณพบว่าตัวเองกำลังเผชิญอยู่กับการผัดวันประกันพรุ่ง ให้ถอยตัวเองออกมาสังเกตว่า “เพราะอะไรเราถึงผัดวันประกันพรุ่งกับงานนี้” หากคุณทราบสาเหตุคุณจะสามารถหาวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น และต่อไปนี้คือสาเหตุทั่วไปที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการผัดวันประกันพรุ่ง

  • คุณไม่มีแรงจูงใจที่มากพอในการทำงานนั้น จนกว่าจะเร่งด่วนและใกล้จะถึงกำหนดส่ง
  • ความคิดและความรู้สึกเชิงลบเข้ามาขัดขวางการทำงาน เช่น ความคิดว่างานชิ้นนั้นยากเกินความสามารถที่คุณมี และคิดว่าคุณจะทำงานนั้นได้ไม่ดี
  • การที่คุณไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เช่น คุณไม่เคยมีประสบการณ์กับงานนั้นมาก่อนและอาจรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าที่จะเสียเวลาในการเรียนรู้สิ่งใหม่
  • งานชิ้นนั้นดูน่าเบื่อและง่าย คุณสามารถใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการทำให้เสร็จจึงทำให้คุณคิดว่าเดี๋ยวค่อยทำก็ได้
2. ประเมินตารางเวลาของคุณ

         เนื่องจากตารางงานที่ยุ่งวุ่นวายมักเป็นสาเหตุของการผัดวันประกันพรุ่ง ลองพิจารณาตารางงานของคุณในแต่ละวันให้ดี ตัดสิ่งที่ไม่สำคัญหรือสิ่งที่
กินเวลาให้หมด

3. สร้างรายการสิ่งที่ต้องทำ

         สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเองคือการจัดระเบียบ ทำรายการสิ่งที่ต้องทำ อาจยังไม่ต้องเรียงลำดับก็ได้ เมื่อเขียนสิ่งที่ต้องทำออกมาหมดแล้ว หลังจากนั้นจัดลำดับความสำคัญ เทคนิคง่าย ๆ ที่ทำให้คุณจัดลำดับได้ง่ายขึ้น คือการกำหนดว่าอะไรที่คุณต้องทำและอะไรที่คุณอยากทำ และเพื่อให้คุณสามารถจัดลำดับได้ง่ายขึ้นอีกอาจกำหนดระยะเวลาในการทำให้เสร็จไว้ด้วยเพื่อที่คุณจะสามารถแบ่งเวลาได้ง่ายขึ้น

4. แบ่งออกเป็นขั้นตอนเล็ก ๆ

         หากคุณมีงานใหญ่หรือซับซ้อนที่ทำให้คุณรู้สึกติดขัดหรือหนักใจ ให้แบ่งงานออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ มีขั้นตอนที่ชัดเจน จะช่วยทำให้คุณเห็นภาพรวมของการทำงานและคุณจะสามารถจัดการได้ง่ายขึ้น คุณรู้ว่าต้องดำเนินการขั้นตอนไหนก่อนและหลังจากเสร็จขั้นตอนนี้ต้องทำอะไรต่อ วิธีนี้จะช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความผิดพลาดของงานได้

         บางครั้งหากงานนั้นเป็นงานใหม่ที่คุณไม่เคยทำ อาจทำให้เห็นภาพรวมได้ยาก ดังนั้นคุณอาจขอให้เพื่อนหรือคนที่คุณไว้ใจช่วยคิดและจัดการขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้คุณเห็นภาพรวมของงานได้อย่างชัดเจนไม่ผิดพลาด

5. กำหนดเส้นตาย

         เมื่อคุณแบ่งงานออกเป็นขั้นตอนเล็ก ๆ ให้กำหนดเส้นตายสำหรับการทำแต่ละขั้นตอนด้วย มันจะง่ายกว่าที่จะประสบความสำเร็จเมื่อคุณมีเป้าหมายระยะสั้นที่หลากหลาย เมื่อเทียบกับเป้าหมายระยะยาวขนาดใหญ่เพียงเป้าหมายเดียว ใช้แรงจูงใจน้อยกว่าและอาจทำให้ดูง่ายขึ้น

         ทุกครั้งที่คุณบรรลุเป้าหมายระยะสั้นให้รางวัลตัวเองด้วย อาจเป็นขนม อาหารอร่อย ๆ หรือ เวลาในการพักเบรก การสร้างเป้าหมายเล็ก ๆ เหล่านี้ยังช่วยให้คุณมีกำลังใจ และมองตนเองในแง่บวก

        และในขณะที่ทำงานคุณอาจพบว่าจิตใจของคุณล่องลอยไปกับกิจกรรมที่คุณอยากจะทำ คุณจะมีสมาธิกับงานได้ง่ายขึ้นมากเพราะคุณรู้ว่าคุณได้กำหนดเวลาสำหรับรางวัลที่จะได้รับแล้ว

    บอกตัวเองว่า “วันนี้ฉันจะทำงานให้หนักเพื่อบรรลุเป้าหมาย เพราะพรุ่งนี้เป็นวันเสาร์ และฉันได้กำหนดเวลาไปเที่ยวทะเลแล้ว” การรู้ว่าคุณทำงานเสร็จแล้ว จะทำให้ผ่อนคลายและเพลิดเพลินกับเวลาว่างได้ง่ายขึ้น

6. ทำให้งานที่น่าเบื่อ น่าสนใจ

         งานที่น่าเบื่อ ทำให้คุณเกิดความรู้สึกไม่อยากทำ ไม่ได้กระตุ้นสมองมากพอ หากนี่คือสาเหตุของการผัดวันประกันพรุ่ง ให้ถามตัวเองว่า “ฉันจะเปลี่ยนงานที่น่าเบื่อนี้เป็นงานที่น่าสนใจได้อย่างไร” มีหลายวิธีที่จะทำให้งานน่าสนใจยิ่งขึ้นตัวอย่าง เช่น

  • เปลี่ยนงานที่น่าเบื่อให้เป็นการแข่งขันกับตัวเอง  เช่น คุณสามารถล้างจานได้กี่ใบใน 5 นาที?
  • มีรางวัลรอเมื่อคุณทำเสร็จแล้ว เช่น เมื่อทำงานเสร็จจะได้ดูซีรี่ย์ 1 ชั่วโมง
7. จำกัดการรบกวน

         เมื่อถึงเวลาทำงานให้ปิดโทรศัพท์มือถือ อีเมล เฟซบุ๊ก และอื่นๆ ที่ทำให้คุณเสียสมาธิในการเริ่มต้น รวมไปถึงการจำกัดการใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ ตามความจำเป็นเท่านั้น เช่น เมื่อคุณกำลังอ่านหนังสือแล้วมีการแจ้งเตือนข้อความทางไลน์ คุณจะไม่เปิดดูทันทีจนกว่าจะอ่านไปถึงบทที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ควรระวังสิ่งรบกวนที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการมีสมาธิของคุณทั้งจากปัจจัยภายในด้านร่างกาย เช่น หิวข้าว อากาศร้อน ปวดปัสสาวะ และสิ่งรบกวนด้านจิตใจ เช่น คุณกำลังเป็นห่วงแฟนที่กำลังเดินทาง คุณควรโทรไปสอบถามข้อมูลให้คลายความกังวลใจก่อนที่จะเริ่มทำงาน

         คุณอาจบอกตัวเองว่า “ฉันจะทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก่อนแล้วค่อยไปทำภารกิจสำคัญ” อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่ “สิ่งเล็กน้อย” มีส่วนทำให้เกิดวงจรของการผัดวันประกันพรุ่ง คุณรู้สึกยุ่งมากและกำลังประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่กำลังหลีกเลี่ยงงานหลักที่ต้องทำ เช่น คุณเช็คอีเมลบ่อยเกินไปจนบางครั้งคุณเสียเวลาไปกับการตอบอีเมลที่ยังไม่ถึงกำหนดส่งงานด้วยซ้ำ

8. ฝึกอบรมเมื่อจำเป็น

         หากคุณกำลังหลีกเลี่ยงงานเพราะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร? ถ้าเป็นอย่างนั้นคุณต้องพิจารณาความรู้ ความสามารถของตัวคุณเอง ถ้าจำเป็นต้องทำด้วยตัวเอง คุณต้องหาแหล่งข้อมูลที่จะสามารถเพิ่มพูนความรู้ อาจลงทะเบียนในหลักสูตรฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ หรือศึกษาจาก Google ,YouTube ,เพจบล็อกต่าง ๆ หรือบางทีคุณอาจจะได้ไอเดียที่ดีในการจัดการงานนั้น ๆ จากคนที่มีประสบการณ์มาแล้ว เช่น คุณเข้าเวปเพจต่าง ๆ เพื่อหาแรงบันดาลใจในการแต่งภาพสวย ๆ คุณอาจเปิดไปเจอคนที่แชร์การใช้แอปพลิเคชันแต่งรูปใหม่ ๆ ที่อาจจะทำให้งานของคุณง่ายขึ้น

         การผัดวันประกันพรุ่งอาจเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งไม่ให้คุณไปถึงเป้าหมายที่วางแผนไว้ หากคุณสามารถเอาชนะมันได้ ความสำเร็จที่คุณหวังก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม และสำหรับใครที่พยายามทำตามเทคนิคข้างต้นแล้วก็ยังไม่สามารถเอาชนะปัญหานี้ได้ นั่นอาจเป็นสัญญาณที่ไม่ดีแล้ว คุณสามารถติดต่อมาคุยกับนักจิตวิทยาของเราเพื่อหาสาเหตุอื่นๆที่อาจซ่อนอยู่ได้


ประวัติผู้เขียน

ธนัชพร สุทธิศันสนีย์

การศึกษาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (วท.ม) สาขาจิตวิทยาชุมชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศิลปศาสตร์บัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.