ในการสร้างทีมงานที่เป็น Dream team นอกจากความตาถึงของหัวหน้างานที่พาคนเก่ง ๆ มารวมตัวกันได้แล้ว การสร้างความไว้วางใจกันภายในองค์กร หรือภายในทีมงานเองก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากมีคนเก่ง คนดี เข้ามาในทีม แต่ไม่สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ นอกจากจะไม่ได้งานแล้วยังไปสร้างศัตรูให้เกิดขึ้นภายในองค์กรไปอีก ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทั้งคนในองค์กรและตัวองค์กรเองแน่ ๆ ค่ะ ดังนั้นแล้ว เพื่อให้เกิดความสมัคสมานสามัคคีในทีม หัวหน้างานจึงควรสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ความไว้วางใจ” ให้เกิดขึ้นภายในองค์กรเสียก่อน ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้ ดิฉันได้นำ 7 เทคนิคตามคำแนะนำของจิตวิทยาองค์กรในการสร้างความไว้วางใจในองค์กร มาฝากคุณผู้อ่านกันค่ะ

1.รักษาคำพูด
การรักษาคำพูด ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่หัวหน้างานควรเน้นย้ำให้ทุกคนในทีมต้องมี เพราะถ้าสมาชิกในทีมเป็นคนโลเล เปลี่ยนใจง่าย วันนี้บอกว่าจะทำ แต่อีกวันอารมณ์ไม่ดีบอกไม่ทำแล้ว แบบนี้เพื่อนร่วมทีมคนอื่นก็ลำบากใจที่จะร่วมงานด้วยค่ะ เพราะแค่ทำงานก็เครียดแล้ว ยังต้องมาทนอยู่ในทีมที่มีสมาชิกทีมเป็น Toxic People อีก ก็คงไม่ไหว ดังนั้น หัวหน้าทีมต้องตั้งกฎให้ทุกคนในทีมรักษาคำพูด และต้องรักษากฎนี้อย่างเคร่งครัดเลยค่ะ เพื่อให้ทุกคนในทีมสามารถทำงานร่วมกันอย่างสบายใจ
2.จริงใจ
เคยไหมคะที่ต้องรู้สึกระแวงเวลาที่อยู่ในกลุ่มเพื่อนบ้างกลุ่ม เพราะเวลาลุกออกจากวงสนทนาปุ๊บจะโดนนินทาตามหลังปั๊บ ซึ่งการอยู่ในกลุ่มเพื่อนแบบนี้จะรู้สึกกังวลกับทุกอย่างที่เราทำ เพราะอาจถูกนำไปนินทา หรือใส่ร้ายนอกเวลางานได้ ดังนั้น หัวหน้างานต้องเน้นย้ำให้สมาชิกทุกคนในทีมเข้าใจว่า ความจริงใจเป็นเรื่องสำคัญ และต้องนำมาใช้กับเพื่อน ๆ ร่วมทีมแบบไม่หวง เพราะเมื่อทุกคนในทีมจริงใจต่อกัน มีเรื่องค้างคาใจ หรือเรื่องแนะนำกันก็พูดกันต่อหน้าด้วยความจริงใจ ไม่ใส่ร้าย ไม่เลื่อยขาเก้าอี้กัน เมื่อทุกคนสามารถเชื่อใจกันได้ ความเป็นครอบครัว ความผูกพันกันในทีมก็สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยากค่ะ เพราะทุกคนมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
3.ห่วงใย
เทคนิคต่อมาที่นักจิตวิทยาองค์กรแนะนำ ก็คือ ความห่วงใย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่หัวหน้าทีมไม่ควรละเลยให้สมาชิกในทีมแสดงต่อกัน โดยอาจจะแสดงความห่วงใยออกมาในนามของทีม เช่น การมีเซอร์ไพส์วันกิดให้เพื่อนร่วมทีม เมื่อมีคนในทีมไม่สบาย ก็ชวนกันไปเยี่ยมแบบพร้อมหน้าพร้อมตา แบบนี้เป็นต้น หรือจะแสดงออกแบบบุคคลต่อบุคคลก็ได้เหมือนกันค่ะ เช่น มีการ์ดแสดงความยินดีเมื่อเพื่อนในทีมประสบความสำเร็จ มีการไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบประจำวัน เป็นต้น ถึงแม้ว่าสิ่งที่ทำจะเล็กน้อย แต่มีผลต่อจิตใจของสมาชิกในทีมอย่างมากเลยค่ะ เพราะในทางจิตวิทยา การแสดงความห่วงใยจะทำให้สมาชิกรู้สึกได้รับความสำคัญ มีความผูกพันกับทีม และเกิดความไว้วางใจกันได้ไม่ยากค่ะ
4.เห็นอกเห็นใจ
เทคนิคการสร้างความไว้วางใจในทีมลำดับต่อมาที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ ความเห็นอกเห็นใจกันค่ะ เพราะถึงแม้เราจะมีทีมที่แกร่ง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนในทีมจะมีสภาพจิตใจที่แกร่งได้ตลอดเวลา เพราะต่างคนต่างก็มีภาระหน้าที่ที่ต้องทำ บางคนก็เป็นคุณพ่อ บางคนก็เป็นคุณแม่ บางคนก็เป็นลูกที่ต้องดูแลพ่อ แม่ ขอให้เข้าใจเถอะค่ะว่าทุกคนอยากทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทั้งหน้าที่การงาน และหน้าที่ต่อครอบครัว แต่บางครั้งหน้าที่ต่อครอบครัวก็อาจรบกวนจิตใจในวันทำงานบ้าง เช่น พ่อป่วย ลูกเข้าโรงพยาบาล ซึ่งส่งผลให้เพื่อนร่วมทีมคนนั้นทำงานได้ไม่เต็มร้อย หากสมาชิกในทีมมีความเห็นอกเห็นใจกัน ทีมจะผนึกกำลังกันจนพาทีมเดินไปต่อได้ค่ะ
5.ให้เกียรติ
ความให้เกียรติกันเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เทคนิคก่อนหน้าเลยค่ะ เพราะหากสมาชิกในทีมให้เกียรติกัน เคารพกัน บรรยากาศในทีมจะเป็นไปด้วยความราบรื่น เพราะทุกคนจะรับฟังความเห็นของกันและกันโดยไม่โต้เถียง ใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกันมากกว่าอารมณ์ เมื่อทุกคนลดอัตตาของตัวเองลงความเป็นทีมจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และเมื่อทีมแข็งแกร่ง การทำงานก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่หวั่นแม้วันมีอุปสรรคมากค่ะ
6.รักษาความลับของเพื่อนร่วมทีม
การรักษาความลับของเพื่อนร่วมทีม มีผลอย่างยิ่งต่อความไว้วางใจกันค่ะ เพราะคงมีไม่กี่คนที่เราสามารถเล่าเรื่องราวความลับ หรือเรือ่งไม่สบายใจของเราให้ใครสักคนฟัง แต่ถ้าอยู่ ๆ เรื่องที่เล่ากลับถูกเล่าต่อ แล้วเรามารู้ที่หลัง เราย่อมไม่พอใจเพื่อนคนนั้นถูกไหมคะ บรรยากาศการทำงานเป็นทีมก็เช่นกัน หากสมาชิกในทีมไม่รักษาความลับให้กัน ย่อมเกิดความบาดหมาง และสะเทือนความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เมื่อนั้นทีมก็แตก และเป็นภาระของหัวหน้างานที่ต้องมาสร้างทีมกันใหม่ ซึ่งนอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังเป็นเรื่องเสียความรู้สึก กินใจของสมาชิกในทีมไปอีกนานค่ะ
7.รักษาสิทธิให้กันและกัน
สิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าสมาชิกในทีมให้ความสำคัญต่อกันเสมือนหนึ่งคนในครอบครัว ก็คือการรักษาสิทธิให้เพื่อนร่วมทีมค่ะ เพราะถ้าคนที่ทำงานร่วมกันเฉย ๆ โดยยังไม่มีความผูกพันกัน ก็จะไม่สนใจว่าใคร ทำอะไร แต่เมื่อใดก็ตามที่ทีมแข็งแกร่ง สมาชิกในทีมจะคอยรักษาสิทธิให้แก่กัน เช่น การขึ้นเงินเดือน หากสมาชิกในทีมเห็นว่าเพื่อนควรได้มากกว่าผลประเมิน ก็จะช่วยกันแย้ง และยืนยันให้ซึ่งการรักษาสิทธิให้กันเช่นนี้นอกจากจะเพิ่มความผูกพันกันแล้ว ยังทำให้ทีมสามัคคีกันมากขึ้นด้วยค่ะ
การจะสร้าง Dream team ขึ้นมานั้น นอกจากจะต้องเฟ้นหาคนเก่งคนดี คนมีความสามารถแล้ว การสร้างความไว้วางใจในทีมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน หวังว่า 7 เทคนิคจากนักจิตวิทยาองค์กรที่ได้เสนอไปแล้วนั้นจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณผู้อ่านในการพัฒนาทีมนะคะ
อ้างอิง : ปจิตา ดิสกุล ณ อยุธยา และคณะ. 2564. หลักพื้นฐานและความสำคัญของการโค้ชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน. เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตรการสอนงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงและการเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างโดยการโค้ช (Coaching) และการเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) ระหว่างวันที่ 2 – 3 มีนาคม 2564 สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.
ประวัติผู้เขียน :
จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 5 ปี
You must be logged in to post a comment.