แล้ว แต่ทำไมถึงหยุดคิดเรื่องงานไม่ได้ซะที หลายครั้งก็ลากยาวไปถึงวันเสาร์อาทิตย์ มารู้ตัวอีกทีสมองก็ไม่ได้พักเลย จะเอนจอยกับการอ่านหนังสือ ดูซี่ี่รี่ย์เรื่องโปรด ออกไปเดินเล่นข้างนอก ก็ไม่ได้ มัวแต่กังวลเรื่องงานที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำเท่าไหร่ก็ทำไม่หมดซะที หากคุณกำลังเป็นแบบนี้อยู่ ไม่ต้องห่วงนะคะ เพราะวันนี้เราจะมาแนะนำวิธีที่ที่จะช่วยให้คุณหยุดคิดเรื่องงานนอกเวลางาน มาดูกันค่ะว่ามีวิธีไหนบ้าง
เลิกงานแล้ว แต่ทำไมถึงหยุดคิดเรื่องงานไม่ได้ซะที หลายครั้งก็ลากยาวไปถึงวันเสาร์อาทิตย์ มารู้ตัวอีกทีสมองก็ไม่ได้พักเลย จะเอนจอยกับการอ่านหนังสือ ดูซีรีส์เรื่องโปรด ออกไปเดินเล่นข้างนอก ก็ไม่ได้ มัวแต่กังวลเรื่องงานที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำเท่าไหร่ก็ทำไม่หมดซะที หากคุณกำลังเป็นแบบนี้อยู่ ไม่ต้องห่วงนะคะ เพราะวันนี้เราจะมาแนะนำวิธีที่ที่จะช่วยให้คุณหยุดคิดเรื่องงานนอกเวลางาน มาดูกันค่ะว่ามีวิธีไหนบ้าง
1. มองวันเสาร์อาทิตย์ให้เป็นวันหยุดพักร้อน
เป็นการชวนให้ตัวเองมองเห็นปลายทางในแต่ละสัปดาห์ว่า เมื่อทำงานครบ 5 วันแล้วคุณจะได้หยุดพักผ่อน 2 วัน และเมื่อคุณมองวันหยุด 2 วันนี้เป็นวันหยุดพักร้อน คุณจะพยายามจัดการงานที่ค้างคาให้เสร็จก่อนไปหยุดพักร้อน เพื่อความสบายใจของตัวคุณเอง ซึ่งในการจัดการงานที่ค้างคาเหล่านี้ คุณก็ควรจะจัดลำดับความสำคัญของงานด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจหมายถึงว่า คุณต้องทำงานบางอย่างล่วงหน้าเพื่อให้เสร็จก่อนกำหนด โดยการจัดสรรเวลาในช่วงสัปดาห์ก่อนวันหยุด ให้งานเดินต่อไปได้ในช่วงที่คุณไม่อยู่
ลองแบ่งเวลาทุกวันศุกร์เพื่อทำงานหรือเตรียมงานล่วงหน้าของสัปดาห์ถัดไปดู การทำแบบนี้จะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายจิตใจมากขึ้นในวันอาทิตย์ ด้วยความรู้สึกที่ว่า คุณได้เก็บสะสมความคืบหน้าไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะหลายครั้ง การที่คุณเก็บเรื่องงานมาคิดในวันหยุดอาจเป็นเพราะคุณรู้สึกว่า คุณมีงานที่ต้องทำเยอะ กลัวจะทำเสร็จไม่ทัน เลยรู้สึกกังวลอยู่ตลอดเวลา อย่างคุณ Yuri Elkaim ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Healthpreneur เขาเล่าว่า เขาใช้เวลาในการเขียนอีเมลล่วงหน้าทั้งหมดของเขาในวันศุกร์เพื่อใช้ในสัปดาห์ถัดไป
2. ทำ to-do list และ to don’t list สำหรับสัปดาห์ถัดไป
ความเครียดในวันหยุดมักมาจากการคิดเรื่องงานที่ต้องทำให้เสร็จ ดังนั้น การวางแผนล่วงหน้าและจัดลำดับความสำคัญของงานในสัปดาห์ถัดไป จะช่วยคุณได้ ถ้าให้ดี คุณควรกำหนดวันส่งงานล่วงหน้าไว้ด้วย ซึ่งข้อดีของการใช้ to-do list คือการช่วยให้คุณโฟกัสได้ดีขึ้นและทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่พยายามทำทุกอย่างในเวลาเดียวกัน รวมถึงช่วยให้คุณเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า คุณต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้งานแต่ละชิ้นเสร็จ อีกตัวช่วยนึง คือการใช้ปฏิทินออนไลน์เพื่อแจ้งเตือนงานที่เราต้องทำ / ส่งในแต่ละวัน
ตรงกันข้ามกับ to-do list การทำ to don’t list ก็มีประโยชน์เหมือนกันนะคะ การทำ to don’t list คือการลิสต์สิ่งที่คุณมองว่า ไม่สำคัญ ยังไม่ต้องในทำตอนนี้ หรือควรหยุดทำไปเลย ออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่กินเวลาเกินจำเป็นและไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานโดยรวมของคุณเท่าไหร่ ดังนั้น การลิสต์สิ่งเหล่านี้ออกมาจะช่วยเตือนตัวคุณเองว่า อย่าไปติดกับดักสิ่งเหล่านี้นะ
3. ตั้งและบรรลุเป้าหมายย่อยรายสัปดาห์
การกำหนดเป้าหมายย่อยรายสัปดาห์ จะช่วยให้คุณสามารถบรรลุเป้าหมายใหญ่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งคุณควรใส่เป้าหมายย่อยใน to-do list ของคุณด้วย เริ่มด้วยการลิสต์ชื่องานหรือชื่อโปรเจกต์ที่ต้องทำออกมาเป็นหัวข้อใหญ่ก่อน และลิสต์หัวข้อย่อยที่ต้องทำเพื่อให้งานหรือโปรเจกต์ชิ้นนั้นเสร็จ อาจเป็นการจัดลำดับขั้นตอนก็ได้ว่า ต้องติดต่อใคร ต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้าง เป็นต้น
การยึดเป้าหมายเล็ก ๆ คือกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายใหญ่ ดังนั้น คุณควรวางแผนในการใช้วันศุกร์ของคุณให้ดี ซึ่งการใช้วันศุกร์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การจัดการงานของสัปดาห์ก่อนให้เสร็จ รวมถึงวางแผนล่วงหน้าเกี่ยวกับงานที่จะทำในสัปดาห์ถัดไป หากมีงานไหนที่คุณสามารถทำล่วงหน้าได้ ให้คุณรีบทำมันซะ และเมื่อคุณสามารถบรรลุเป้าหมายย่อยในวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ได้ ความรู้สึกของความสำเร็จนั้นจะช่วยให้คุณสามารถผ่อนคลายได้อย่างเต็มที่ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และไม่เก็บเรื่องงานมาคิด เพราะคุณได้เก็บสะสมความคืบหน้าไว้ล่วงหน้าแล้ว สิ่งสำคัญที่อยากให้คุณจำไว้คือ คุณไม่ควรเอาเรื่องงานมาปนกับเวลาพักผ่อน เวลาที่คุณทำสิ่งไหนก็ควรเต็มที่กับสิ่งนั้น โดยเฉพาะในการทำงาน เพราะเมื่อคุณทำเต็มที่แล้ว คุณจะมีเวลาเพิ่มในการไปทำอย่างอื่น
4. ระบุเวลาหยุดทำงานให้ชัดเจน
บางทีการระบุเวลาทำงานให้ชัดเจนอาจทำได้ยากสำหรับหลายคนที่ทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ Work from Home เนื่องจากไม่มีการตอกบัตร หรือมีคนมาคอยนั่งเช็กว่า คุณทำงานอยู่ไหมเหมือนตอนอยู่ที่ออฟฟิศ ดังนั้น การมีวินัยและการรู้จักบริหารเวลานั้นเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพราะหากคุณสามารถทำได้ คุณจะมีเวลาในการไปทำอย่างอื่น แต่แน่นอนว่า ทุกคนย่อมมีวันที่ดีและวันที่แย่ ในวันที่แย่ คุณอาจไม่สามารถทำงานได้เต็มที่มากนัก ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะการพักผ่อนจะช่วยให้คุณดีขึ้นได้
การทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่านั้น อาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าได้ ดังนั้น คุณควรกำหนดเวลาทำงานของตัวเองให้ชัดเจน ไม่ว่าคุณจะทำงานที่บ้านหรือที่ออฟฟิศ หากคุณระบุว่าหลังหนึ่งทุ่มคุณจะหยุดทำงาน คุณก็ควรจะปิดการแจ้งเตือนต่าง ๆ ออกจากระบบอีเมล หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานทั้งหมดในเวลาหนึ่งทุ่ม ห้ามยืดหยุ่น ไม่งั้นคุณอาจเข้าสู่วังวนของความรู้สึกที่ว่า คุณต้องคอยตอบแชต / อีเมลเรื่องงานตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้คุณคิดเรื่องงานทั้งวัน ทุกวัน แม้กระทั่งในวันหยุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บางครั้งในการทำงาน คุณอาจไม่สามารถเลิกงานในเวลาที่เป๊ะขนาดนั้นได้ เนื่องจากมีงานด่วนกระทันหันเข้ามา ดังนั้น การใช้วิธีปรับความคิด การลองหาเวลาพักผ่อนทดแทน หรือการไปนั่งทำงานในสถานที่ที่คุณชอบ ก็สามารถช่วยสร้างความสุขในการทำงานให้ได้คุณได้นะคะ
References
JobThai (2021, Aug 30). “เลิกงานแล้ว แต่ทำไมสมองยังคิดถึงแต่เรื่องงาน.” https://blog.jobthai.com/career-tips/เลิกงานแล้ว-แต่ทำไมสมองยังคิดถึงแต่เรื่องงาน#1.%20Default%20Mode%20Network%20ในสมอง%20ทำให้เผลอคิดเรื่องงานตลอดเวลา.
Mautz, Scott (2019, July 26). “3 Things to Do at Work on Friday to Ensure You Have a Low-Stress Weekend, According to These Hyper-Productive CEOS.” Inc.com, Inc. https://www.inc.com/scott-mautz/3-things-to-do-at-work-on-friday-to-ensure-you-have-a-low-stress-weekend-according-to-these-hyper-productive-ceos.html.
ประวัติผู้เขียน
Duanmanus Waraphaskul
Mental Health Consultant
M.A. Psychology in Education, Teachers College, Columbia University