คำถามหนึ่งที่ผมถูกถามเป็นประจำคือ เราจะอยู่กับคนที่เป็นซึมเศร้าอย่างไรดีครับ อะไรควรทำ อะไร ไม่ควรทำ สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการพูดกับคนที่เป็นซึมเศร้า คำพูดอย่างไรที่สามารถใช้ได้หรือไม่ได้ ดังนั้นผมจึงเขียนบทเพื่อเป็น How to เบื้องต้นในการใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้ที่เป็นซึมเศร้าครับ
ก่อนอื่น เราต้องสังเกตอาการหรือความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของคนใกล้ตัวของเรา ว่าภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คนใกล้ตัวของเรามีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยสามารถสังเกตได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมตั้งแต่ 4 – 5 ข้อขึ้นไปหรือไม่ จาก 9 ข้อดังต่อไปนี้
1. มีการตอบสนองที่ช้าลง การเคลื่อนไหวหรือทำสิ่งต่าง ๆ ช้าลงอย่างเห็นได้ชัด การพูดโต้ตอบช้าลง
2. พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนมากกว่าปกติหรือนอนนานกว่าที่เคยเป็น นอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก หรือมีปัญหาในการเข้านอน โดยจะสังเกตได้จากการง่วง หาว ซึม สัปหงกในระหว่างทำงาน หรืออาจจะมีขอบตาดำ หรือตาโหล อิดโรยจากการอดนอน
3. กล่าวโทษตนเองบ่อย ๆ รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ไร้ค่า ไม่มีศักยภาพ หรือพูดแง่ลบกับตนเอง
4. เหม่อลอย ไม่ค่อยมีสมาธิ การตัดสินใจช้าลง จดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ไม่นาน
5. ดูไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง อ่อนแอลง อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีพลังงานเหมือนเมื่อก่อน
6. สภาวะอารมณ์ไม่ค่อยคงที่ หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย หรือเศร้าง่าย สะเทือนใจง่าย ร้องไห้ออกมาแบบไม่มีสาเหตุ โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวันหรือบางวัน
7. รู้สึกว่าทุกอย่างน่าเบื่อ ไม่อยากทำอะไรเลย เบื่อง่าย รู้สึกไม่ค่อยมีความสุขหรือเพลิดเพลินกับกิจกรรมหรือสิ่งที่เคยสนใจ
8. ไม่ค่อยอยากอาหาร เบื่ออาหาร หรือหิวตลอดเวลา กินจุกจิก อยากอาหารมากกว่าปกติ สังเกตได้จากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่ถ้าคนใกล้ชิดตั้งใจลดหรือเพิ่มน้ำหนักเพื่อการพัฒนารูปร่าง ก็จะไม่เข้าข่ายในตัวชี้วัดว่ามีอาการซึมเศร้านะครับ
9. พูดเรื่องการตายให้ฟังบ่อย ๆ พูดว่าหายตัวไปเลยก็คงดี และคิดเกี่ยวกับเรื่องวิธีการตายอยู่บ่อย ๆ หรือเริ่มมีการสั่งเสีย ฝากเรื่องต่าง ๆ ของตนเอง
หากเราสังเกตอาการหรือพฤติกรรมของคนใกล้ชิดแล้วว่าเริ่มพบอาการหรือความผิดปกติดังกล่าว ผมแนะนำว่าให้เริ่มต้นคุยถึงความรู้สึก ว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง มีเรื่องอะไรที่อยากเล่าให้ฟังบ้างหรือไม่ จากนั้นก็เริ่มคุยกันแบบ “ปิดปากและเปิดหู” ให้คนใกล้ชิดของเราได้พูดระบายสิ่งที่อยู่ในใจในความรู้สึกของเขาออกมาก หน้าที่ของเราคือตั้งใจฟังและไม่ตัดสินครับ เปิดใจยอมรับฟังสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อสารกับเรา
แล้วหากเราอยากพูดให้กำลังใจเขา ควรใช้คำพูดอย่างไรดี ผมนำตัวอย่างคำพูดน่าฟัง และให้กำลังใจมาเป็นแนวทางครับ เช่น
– เธอเป็นคนสำคัญสำหรับฉันเสมอ
– เธอมีความหมายสำหรับฉันนะ
– เธอไม่ได้อยู่คนเดียวนะ
– ฉันจะอยู่ข้าง ๆ เธอนะ
– ขอกอดหน่อยได้ไหม
– อดทนเอาไว้นะ
– ออกไปเดินเล่นสูดอากาศดี ๆ กันไหม
– เราจะผ่านมันไปด้วยกัน
– ฉันก็ไม่รู้หรอกนะว่าเธอรู้สึกไม่โอเคแค่ไหน แต่ฉันยินดีที่จะเข้าใจมันนะ
– เธอก็แค่เศร้า เราทุกคนสามารถเศร้าได้
– ฉันรักเธอเสมอ ไม่ว่าเธอจะเป็นอย่างไรก็ตาม
– ฉันเห็นแล้วว่าเธอกำลังพยายาม มีอะไรที่ให้ผมช่วยได้บ้าง บอกมาได้เลยนะ
– อีกไม่นานทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้นนะ
เมื่อมีคำพูดที่ควรพูดแล้ว ผมขอยกตัวอย่างคำพูดที่ต้องระวังหรือลีกเลี่ยงที่จะพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไว้ให้ได้ระวังกันนะครับ
– สู้ ๆ นะ
– อย่าคิดมาก
– ลองหัดมองโลกในแง่บวกบ้าง
– ถ้าไม่อยากเศร้าแบบนี้ เธอก็ต้องเลิกคิดได้แล้ว
– ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวมันก็ผ่านไปเอง
– นี่เธอจะเศร้าไปถึงไหนกัน
– อะไรกัน ทำไมยังไม่หายอีก
– ฉันเข้าใจนะว่าเธอรู้สึกอย่างไร ฉันเองก็เคยเป็น
– พอเหอะ เลิกเศร้าได้แล้ว
– ความรู้สึกพวกนี้มันอยู่แค่ในความคิดเธอเท่านั้น
– ทำใจให้สบายเถอะ ทุกคนเคยผ่านช่วงเวลาแบบนี้มาแล้ว
– ชีวิตเธอยังมีคุณค่าอีกมากมาย ทำไมถึงอยากคิดสั้น
– ฉันช่วยอะไรเธอไม่ได้จริง ๆ
– เธอมีปัญหาอะไร ยังไม่ดีขึ้นอีกเหรอ
– เธอต้องตั้งสติหน่อยสิ เธอเป็นแบบนี้มานานเกินไปแล้ว
– ฉันไม่ชอบสิ่งที่เธอทำอยู่ตอนนี้เลย
– รู้หรือเปล่าว่ายังมีคนอื่นที่แย่กว่าเธออีก
– พยายามหน่อย แค่นี้ทำไมทำไม่ได้
ลองสังเกตคำพูดหลาย ๆ คำที่ดูเหมือนกับว่าจะเป็นคำพูดเพื่อให้กำลังใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับให้ความรู้สึกกดดัน และกล่าวตำหนิถึงอาการซึมเศร้า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกระทำที่แสดงออกถึงความปรารถนาดี ความห่วงใย ความเอื้ออาทรที่มีต่อกัน อยู่เคียงข้างหรือคอยอยู่ใกล้ ๆ พร้อมที่จะรับฟัง และไม่ตัดสินในสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ ระมัดระวังเกี่ยวกับแสดงออกทางภาษาท่าทางที่ดูเหมือนรังเกียจหรือผลักไส รวมถึงคำพูดที่กดดัน คาดหวัง หรือตำหนิ ใช้เทคนิคการสนทนาแบบ “ปิดปากและเปิดหู” อย่าแสดงความรู้สึกเบื่อหน่ายหรือรำคาญ แนะนำว่าควรดูแลให้เขารับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ตรงเวลา ถูกต้องและครบถ้วน และอย่าลืมชวนเขาไปออกกำลังกายด้วยกัน หรือใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ เช่น เดินในสวนสาธารณะ นวดสปา หรือไปเปลี่ยนบรรยากาศ เดินห้างสรรพสินค้าร่วมกัน หรือชวนทำงานอดิเรก เช่น ทำงานศิลปะ ทำขนม ปลูกต้นไม้ ถักไหมพรม ให้กำลังใจกันและกัน
หากคุณต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา หรือ จิตแพทย์ iSTRONG ก็ยินดีให้บริการครับ
References
https://www.cigna.co.th/health-wellness/well-at-work/depression-observe
https://www.central.co.th/e-shopping/how-can-we-help-someone-with-depression
https://th.wikihow.com/ช่วยเพื่อนที่มีอาการโรคซึมเศร้า
http://www.plookfriends.com/blog/content/detail/88727
https://www.sompo.co.th/en/home/sompo-article/Sompo-blog-article-listing/area-body/know-more-about-sompo/blog%20content%2016.html