ในช่วงที่งานล้นมือจนทำแทบไม่ทัน การมีสมาธิต่องานตรงหน้านั้นสำคัญมากต่อความสำเร็จของงาน ซึ่งการใช้ประโยชน์จากภาวะ ‘Flow’ อาจช่วยคุณได้

ลองนึกภาพว่า คุณกำลังวิ่งแข่งมาราธอนอยู่ ใจคุณกำลังจดจ่ออยู่กับสิ่งเดียว ซึ่งก็คือการวิ่งของคุณ ทั้งการเคลื่อนไหวของร่างกายและกล้ามเนื้อ จังหวะการหายใจ รวมไปถึงความรู้สึกที่เท้าของคุณกำลังสัมผัสกับพื้น จนลืมเวลา และลืมแม้กระทั่งความเหนื่อยไป การมีสมาธิแบบนี้แหละที่เรียกว่าการอยู่ในภาวะ ‘Flow’
ภาวะ ‘Flow’ คืออะไร
ถ้าให้พูดง่าย ๆ ภาวะ Flow คือการที่คุณมีสมาธิจดจ่ออย่างเต็มที่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้คุณรู้สึกเพลิดเพลิน จนรู้สึกว่าเวลานั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยเกี่ยวกับสมอง มีผลออกมาว่า เมื่อคนเราอยู่ในภาวะ Flow สมองจะเพิ่มการหลั่งสาร Dopamine ที่ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง และมีสมาธิออกมา นอกจากนี้ ภาวะ Flow นั้นยังมีความเกี่ยวข้องกับการมีสุขภาวะที่ดี (Well-being) ความพึงพอใจในชีวิต (Life Satisfaction) และความสุข (Happiness) อีกด้วย ส่วนในแง่ของการทำงานนั้น ภาวะ Flow มีความเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการทำงาน การมีแรงจูงใจ และความรักองค์กร
นิยามและทฤษฎีของภาวะ Flow นั้นมาจาก Mihaly Csikszentmihalyi นักจิตวิทยาชาวฮังกาเรียน ในปี 1975 ซึ่งเกิดจากการสังเกตเห็นศิลปินหลายคนที่สามารถดำดิ่งไปกับงานของตนเองได้ โดยไม่สนใจสิ่งอื่นใด ไม่แม้แต่รู้สึกหิว กระหายน้ำ หรือง่วงนอนเลย
“…completely involved in an activity for its own sake… Time flies. Every action, movement, and thought follows inevitably from the previous one… Your whole being is involved, and you’re using your skills to the utmost.” – Mihaly Csikszentmihalyi
“…การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง… ทำให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทุก ๆ การกระทำ การเคลื่อนไหว และความคิดของคุณนั้น ไหลตามกันอย่างไม่ติดขัด… และคุณก็ได้ใช้ทักษะของคุณอย่างเต็มที่” – Mihaly Csikszentmihalyi
สัญญาณของภาวะ ‘Flow’
สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะ Flow ได้แก่
- คุณรู้สึกเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ทำอยู่ และจดจ่อกับมันได้อย่างเต็มที่จนลืมสิ่งอื่นรอบ ๆ ตัว
- คุณรู้สึกสนุกไปกับสิ่ง ๆ นั้น แม้มันจะมีความท้าทาย
- คุณลืมเวลา มารู้ตัวอีกทีก็เกือบหมดวันแล้ว
- คุณรู้สึกประสบความสำเร็จ แม้จะทำสิ่ง ๆ นั้นยังไม่เสร็จก็ตาม
วิธีเข้าสู่ภาวะ ‘Flow’ ในการทำงาน
1. การมีเป้าหมาย และการได้รับฟีดแบคที่ชัดเจน
หากงานที่คุณได้รับมอบหมายนั้นมีเป้าหมายและสามารถวัดความก้าวหน้าได้อย่างชัดเจน คุณจะสามารถเข้าสู่ภาวะ Flow ได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อคุณรู้ว่าคุณทำงาน ๆ นั้นไปเพื่ออะไรและได้เห็นความคืบหน้าของงาน คุณจะมีแรงจูงใจในการทำงานให้สำเร็จเพื่อบรรลุเป้าหมาย แต่ในทางกลับกัน หากคุณไม่รู้ว่างานที่คุณกำลังทำอยู่นั้นต้องทำไปเพื่ออะไร โอกาสที่คุณจะยอมแพ้ก่อนทำงานสำเร็จก็สูง นอกจากนี้ การได้รับฟีดแบคก็สำคัญเช่นกัน เมื่อคุณรู้ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นั้นดีอยู่แล้วหรือต้องมีการปรับปรุง คุณก็จะสามารถปรับวิธีการทำงานเพื่อให้ตัวคุณเองคงอยู่ในภาวะ Flow ได้
2. การมีทักษะที่เหมาะกับระดับความท้าทายของงาน
การจะเข้าสู่ภาวะ Flow ได้นั้น ระดับทักษะของคุณและความยากของงานต้องมีความสมดุลกัน เพราะหากงานนั้นง่ายเกินไป คุณก็จะเบื่ออย่างรวดเร็ว หรือหากงานนั้นยากเกินไป คุณก็จะรู้สึกกังวลจนเกินไป จนทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ภาวะ Flow ได้ ดังนั้นงานที่มีความท้าทายในระดับที่มากกว่าทักษะของคุณเพียงเล็กน้อย จะช่วยให้คุณพัฒนาทักษะของคุณได้มากขึ้น รวมถึงยังก่อให้เกิดความพึงพอใจในการสร้างผลงานของคุณอีกด้วย แต่อย่าลืมว่าทักษะและความท้าทายนั้นเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคุณจึงควรทำงานที่มีความท้าทายมากขึ้นเมื่อคุณมีทักษะที่เพิ่มขึ้นแล้ว เพื่อไม่ให้คุณหยุดนิ่งอยู่กับที่
3. การปรับมุมมองที่มีต่อตัวเองและความท้าท้ายของงาน
ไม่ใช่แค่การมีทักษะที่เหมาะกับความท้าทายของงานเท่านั้นที่สำคัญ แต่มุมมองที่คุณมีต่อตัวเองก็สำคัญเช่นกัน การมีความมั่นใจ การเห็นคุณค่าในตัวเอง รวมถึงการกลัวความล้มเหลว ล้วนมีอิทธิพลต่อมุมมองของคุณ การจะเข้าสู่ภาวะ Flow ได้นั้น คุณจะต้องมีความมั่นใจว่าคุณสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จได้ การจะสร้างความมั่นใจให้ตัวคุณได้ก็คือการหมั่นพัฒนาทักษะและเริ่มลงมือทำจริง เมื่อใดที่คุณทำงานสำเร็จ คุณควรยินดีไปกับความสำเร็จของตัวเองด้วย เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้ตัวเอง
4. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากสิ่งรบกวน
การใช้เวลาอยู่กับงานใดงานหนึ่งอย่างเต็มที่ ทำให้คุณมีสมาธิ และสามารถจดจ่อได้มากขึ้น จนทำให้สามารถเข้าสู่ภาวะ Flow ได้ ดังนั้นคุณจึงไม่ควรทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน และควรปิดมือถือ ปิดเสียงแจ้งเตือน และสิ่งอื่น ๆ ที่จะสามารถรบกวนคุณโดยไม่จำเป็น ดังนั้นเพื่อไม่ให้คุณหลุดออกจากภาวะ Flow คุณควรจะจัดสรรเวลาให้ชัดเจนว่าเวลาไหนคือเวลาทำงาน งานชิ้นไหนที่คุณกำลังจะทำ รวมไปถึงการจัดพื้นที่เฉพาะ ที่เหมาะสมสำหรับการทำงาน
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน การอยู่ในภาวะ Flow นั้นเพลิดเพลิน จนทำให้ลืมทุกอย่างรอบตัวไปจริง ๆ วิธีที่ผู้เขียนใช้กับตัวเองคือ การปรับมุมมองของตัวเองต่องาน ซึ่งผู้เขียนจะบอกกับตัวเองเสมอเมื่อเจองานที่ท้าทายว่า “ฉันทำได้!” เพื่อเป็นการให้กำลังใจตัวเอง รวมถึงการกำจัดสิ่งรบกวน โดยการไปนั่งทำงานในที่เงียบ ๆ เพื่อให้มีสมาธิไปกับงานที่อยู่ตรงหน้า การทำงานแต่ละอย่างให้สำเร็จ โดยเฉพาะในช่วงที่มีงานล้นมือ นั้นมีความท้าทายอยู่มาก หากใครกำลังประสบกับปัญหานี้อยู่ ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้นะคะ ยังไงก็ลองเอาวิธีข้างต้นไปปรับใช้กันดูค่ะ
อ้างอิง
Csikszentmihalyi, M. (1990). Flow: The Psychology of Optimal Experience. New York: Harper and Row.
Cherry, K. (2011, March 2). “Flow” Can Help You Achieve Goals. Verywell Mind. https://www.verywellmind.com/what-is-flow-2794768
Foster a flow state for better work performance and health | Delphis Learning. (2020). https://delphis.org.uk/peak-performance/flow-state/
Flow State ในการทำงานในองค์กร. (n.d.). Experience.dropbox.com. https://experience.dropbox.com/th-th/resources/flow-state
ประวัติผู้เขียน
เดือนมนัส วราภาสกุล
ที่ปรึกษาจิตวิทยาองค์กร
M.A. Psychology in Education, Teachers College, Columbia University
You must be logged in to post a comment.