พฤติกรรม Passive aggressive ดื้อเงียบ ภัยไม่เงียบในที่ทำงาน

Passive aggressive เป็นรูปแบบหนึ่งการแสดงออกที่สะท้อนทัศนคติเชิงลบ เพื่อต่อต้านหรือโต้ตอบต่อสถานการณ์ที่ตนเองไม่พอใจ นิยามง่าย ๆ คือการ “ดื้อเงียบ” หรือ “Angry Smile” ผมเองก็เคยดื้อเงียบนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกับคุณพ่อคุณแม่ ญาติ พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่คนรัก ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่กำลังเล่นเกมอยู่แล้วคุณแม่เรียกให้ไปตากผ้า แล้วบอกคุณแม่ว่าอีกเดี๋ยวนะครับ เดี๋ยวไป 2 ชั่วโมง หรือเวลาประชุมงานแล้วไม่เห็นด้วยเลยกับโครงการนี้ ผมเลือกที่จะเงียบ แต่แอบไปคุยกันหลังบ้าน (อันนี้ไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่นะครับ) พอจะเห็นภาพกันบ้างไหมครับ ต่อไปจะอธิบายแบบลงรายละเอียดว่า Passive aggressive มีพฤติกรรมอย่างไร

1. แสดงออกโดยใช้คำพูด

            คือการนินทาว่าร้าย พูดในเชิงลบ การพูดเสียดสี เสียดแทงความรู้สึก ล้อเลียนแบบไม่เป็นมิตร โดยมักจะตามมาด้วยคำว่า “ล้อเล่น” หรือการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น รวมถึงวิธีแก้ปัญหา ที่เขาคิดว่าไม่ตรงตามความคาดหวังของเขา โดยจะใส่เงื่อนไขและความคาดหวังที่ตนเองปรารถนาจะเห็นเข้าไปผสมรวมอยู่ด้วยเช่น “พี่ว่า ถ้าหัวหน้าแก้ไขปัญหาแบบนี้ ก็น่าจะดีกว่า”

2. แสดงออกในเชิงสัมพันธ์

            เงียบใส่ จงใจเดินหนี ทำเป็นว่ามองไม่เห็น หรือทำราวกับว่าเป้าหมายไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้น อาจจะเป็นการกีดกันทางสังคม แอบแทงข้างหลัง ตีสองหน้า หรือจงใจยุยงให้เกิดความแตกแยก กล่าวคือการจงใจทำร้ายทางอ้อม โดยใช้พื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือมุ่งเจตนาไปที่บางคนที่มีความสำคัญต่อบุคคลเป้าหมาย เช่น ชวนทุกคนไปทานข้าวกลางวัน ยกเว้นเราไว้คนเดียว หรืออาจจะตีสนิทกับเพื่อนสนิทของเรา เพื่อให้เราถูกโดดเดี่ยวในที่ทำงาน หรือกระทั่งสร้างความเกลียดชังที่มีต่อเรากับเพื่อนร่วมงาน

3. แสดงออกผ่านหน้าที่ความรับผิดชอบ

            แสดงอาการผัดวันประกันพรุ่ง ระงับโครงการเอาไว้โดยไม่มีสาเหตุ ลืม หรือไม่ใส่ใจ สร้างอุปสรรคในการทำงาน หรือการระงับทรัพยากร หรือการเข้าถึงแหล่งข้อมูล ทำงานให้เกิดความผิดพลาด ซึ่งจะสามารถส่งผลกระทบไปยังเป้าหมาย ปฏิเสธความรับผิดชอบในงานส่วนบุคคล ขาดการติดตามงานที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างจงใจ แสดงการต่อต้านหรือดื้อรั้น หรือการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบที่มีต่องานในหน้าที่ แสดงความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาหรือการแก้ไขสถานการณ์ สร้างความซับซ้อนให้เกิดขึ้นในการประสานงาน ทำให้งานที่ออกมาไม่สมบูรณ์ หรือจงใจทำลายงานเพื่อให้มีผลกระทบต่อเป้าหมาย ตัวอย่างที่พบกันได้บ่อย ๆ ก็คือ รับปากว่าจะรีบดูงานตัวนี้ให้ แต่ในความเป็นจริงคือไม่ได้สนใจที่จะทำงานชิ้นนั้นที่รับมาให้สำเร็จอย่างที่บอกไว้ หรือ จงใจทำให้งานเกิดความผิดพลาดขึ้น เพื่อจะทำให้ผลงานที่จะต้องออกมาในระยะเวลาที่กำหนดเกิดล่าช้า หรือตั้งใจหยุดงานในช่วงเวลาที่มีความสำคัญมากต่อเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความเสียหายในการทำงาน

4. แสดงการต่อต้านผู้อื่นผ่านการลงโทษตนเอง

            จงใจทำให้เกิดความล้มเหลวโดยเจตนาเพื่อให้เกิดความน่าสงสาร หรือมีปัญหาสุขภาพที่เกินจริงหรือ แสดงตัวว่าเป็นเหยื่อ แสดงการพึ่งพาผู้อื่น หรือใช้สารเสพติด มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง ความอ่อนแอ โดยเจตนาทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ และได้รับความเมตตาจากผู้อื่น

            พฤติกรรม Passive aggressive ในที่ทำงานนั้นค่อนข้างที่จะทำลายบรรยากาศการทำงานในภาพใหญ่และภาพย่อยขององค์กร อีกทั้งสามารถสร้างความอึดอัดและบรรยากาศที่ตึงเครียดโดยไม่จำเป็นระหว่างเพื่อนร่วมงานและลูกน้อง

ดังนั้นผมจึงเสนอ 3 ขั้นตอนในการพูดคุยเมื่อมีการใช้ Passive aggressive ในที่ทำงาน

1. พูดคุยส่วนตัวอย่างตรงไปตรงมา

            ขอคุยด้วยเป็นการส่วนตัว โดยสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาตรงประเด็นที่อยากสื่อสารจริง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น หัวหน้างานขอคุยนอกรอบกับพนักงาน เพราะการสร้างกระแสการต่อต้านนโยบายบางอย่างของบริษัทในทางเสียหาย

2. ถามความรู้สึก

            Passive aggressive ในที่ทำงาน เป็นเรื่องของความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์หรือผู้คนที่เกี่ยวข้อง ลองถามความรู้สึกต่าง ๆ ที่เขากำลังรู้สึกอยู่ ณ ขณะนั้น แล้วพูดคุยกันถึงความรู้สึกดังกล่าว

3. พูดคุยกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ

            อาจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้แบ่งปันมุมมองที่มีต่อ Passive aggressive ในที่ทำงานในขณะนี้ ให้ทุกคนได้แชร์ความรู้สึกออกมา จะสามารถช่วยลดทอนบรรยากาศอันน่าอึดอัดหรือตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

            เมื่อเราจะพิจารณาเรื่อง Passive aggressive จะพบว่าสิ่งนี้สามารถบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนรัก หรือในครอบครัว และหากเกิดขึ้นในที่ทำงาน ก็จะเกิดบรรยากาศที่เรียกว่า “มาคุ” น่าอึดอัด แม้ว่าเราจะไม่ได้ตกเป็นเป้าหมายเองก็ตาม ดังนั้น หากอยากให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เราก็ต้องสื่อสารความรู้สึกด้วย “ทัศนคติเชิงบวก” เพียงเท่านี้เราก็จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีในสถานที่ทำงานแล้วละครับ

References:
https://www.psychologytoday.com/us/blog/communication-success/201405/how-recognize-and-handle-passive-aggressive-behavior
https://www.psychologytoday.com/us/blog/passive-aggressive-diaries/201403/7-reasons-why-people-use-passive-aggressive-behavior