วิธีพัฒนา Resilience ในทีมงาน

Resilience หากแปลเป็นไทยก็คือความสามารถในการยืดหยุ่นฟื้นตัวจากความเครียด ความผิดหวัง ความผิดพลาด หรือความล้มเหลวในชีวิต เช่น เวลาที่คนเราอกหัก แต่ละคนจะมีระยะเวลาในการฟื้นตัวจากความเสียใจไม่เท่ากัน บางคนอาจใช้เวลาหน่วยวัน บางคนอาจเป็นหลายสัปดาห์ บางคนอาจใช้เวลาหลายปี กว่าจะกลับมามีจิตใจที่ปกติสุขอีกครั้ง ซึ่งสิ่งนี้บ่งบอกถึง Resilience ได้

Resilience หากแปลเป็นไทยก็คือความสามารถในการยืดหยุ่นฟื้นตัวจากความเครียด ความผิดหวัง ความผิดพลาด หรือความล้มเหลวในชีวิต เช่น เวลาที่คนเราอกหัก แต่ละคนจะมีระยะเวลาในการฟื้นตัวจากความเสียใจไม่เท่ากัน บางคนอาจใช้เวลาหน่วยวัน บางคนอาจเป็นหลายสัปดาห์ บางคนอาจใช้เวลาหลายปี กว่าจะกลับมามีจิตใจที่ปกติสุขอีกครั้ง ซึ่งสิ่งนี้บ่งบอกถึง Resilience ได้

อย่างไรก็ตาม คนเรามีความสามารถในการฟื้นตัวแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน สำหรับเรื่องงานหรือธุรกิจ บางคนอาจฟื้นตัวเร็ว แต่กับเรื่องความรักอาจใช้เวลานาน แต่กับบางคนอาจกลับตรงกันข้ามกัน

เวลาที่คุณได้อ่านประวัติบุคคลที่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าคนทั่วไปจะสามารถทำได้ บุคคลเหล่านี้มักจะเคยมีเรื่องราวการผ่านความล้มเหลวในชีวิตมาก่อน หรือเจออุปสรรคปัญหามากมาย กว่าที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จดังที่เห็น นั่นสะท้อนระดับ Resilience ที่สูงของพวกเขาเช่นกัน นั่นเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า Resilience เป็นวัตถุดิบสำคัญมากอันหนึ่ง ในการที่คนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิต รวมทั้งในการทำงาน

Resilience จำเป็นสำหรับชีวิตการทำงานอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในสภาพการทำงานปัจจุบัน ที่มีความกดดันและปัจจัยของความเครียดถาโถมเข้ามารอบด้าน ทั้งในทีมงานหรือองค์กรเอง หรือจะเป็นปัจจัยภายนอก เช่น สภาพเศรษฐกิจ โรคระบาด การก่อการร้ายที่กระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจ เป็นต้น หากคนไหนที่ไม่สามารถฟื้นตัวเพื่อกลับมาตั้งสติและพร้อมรับกับสิ่งที่จะเข้ามาอีกในอนาคต คนคนนั้นก็มีแนวโน้มจะไม่ก้าวหน้าไปถึงไหนได้เร็วนัก อีกทั้งยังอาจมีพฤติกรรมการเลือกอยู่แต่ใน comfort zone เพราะกลัวความผิดพลาด ล้มเหลว และผิดหวังมากเกินไป

ผ่านจากวิกฤตโรคระบาดอย่าง COVID-19 จะเห็นแล้วว่า หลายองค์กรต้องผ่านความยากลำบากที่ธุรกิจได้รับผลกระทบ ซึ่งพนักงานในองค์กรก็ต่างได้รับผลกระทบไปด้วย บางคนถูกเชิญออก บางคนจำต้อง Leave without pay บางคนถูกลดเงินเดือน เหล่านี้คือความยากลำบาก ซึ่งการที่แต่ละองค์กร ทีมงาน และบุคคลจะผ่านวิกฤตและปัญหาต่าง ๆ ไปได้ ต้องมี Resilience ในระดับสูงพอสมควร

การที่องค์กรและทีมงานจะมี Resilience สูงมากพอได้นั้น บุคลากรทุกคนต้องมี Resilience ที่สูงเพียงพอก่อน

คนที่มี Resilience สูง นอกจากพวกเขาจะสามารถฟื้นตัวเองกลับมายืนอย่างมั่นคงบนลู่แข่งขันได้แล้ว พวกเขายังกลับมาด้วยสภาวะที่เข้มแข็งและพร้อมกว่าเดิม เนื่องจากได้เรียนรู้จากความผิดหวัง พวกเขาถอดบทเรียน และปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ที่มีประสิทธิผลยิ่งกว่า พร้อมกลยุทธ์ใหม่ที่รับมือกับสถานการณ์ได้ดีกว่าเดิม

บทความแนะนำ: 6 ลักษณะของคนที่มี Resilience >>

การที่จะทำให้คนในทีมงานหรือองค์กรมี Resilience เพิ่มสูงขึ้น ผู้ที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้าต่างมีส่วนรับผิดชอบอย่างมาก และบุคคลเหล่านี้ก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อทีมงานของตนเองเช่นกัน รวมทั้งหัวหน้าทีมที่มี Resilience สูง ก็มักจะช่วยให้ทีมงานมี Resilience สูงด้วยเช่นกัน

วิธีพัฒนา Resilience ในทีมงาน

1) หัวหน้าทีมต้องพัฒนา Resilience ของตัวเองก่อน

แน่นอนว่าหัวหน้าทีมมีอิทธิพลต่อวิธีคิด อารมณ์ความรู้สึก และผลการทำงานของทั้งทีมอย่างมาก หากคนเป็นหัวหน้ากลับไม่ยืดหยุ่น ปรับตัวช้า กลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าออกจาก comfort zone และทำใจจากความล้มเหลวได้ยากแล้ว ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทีมมี Resilience สูง ดังนั้นหัวหน้าทีมที่ดีต้องทำตัวเป็น Role model หรือบุคคลต้นแบบที่ดีให้กับทีมงาน อยากให้ทีมงานเป็นแบบไหน หัวหน้าก็ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อนเสมอ

บทความแนะนำ: วิธีพัฒนาผู้นำให้มี Resilience >>

2) ให้มุมมองในด้านบวก ทำให้ทีมงานมองเห็นโอกาสอยู่เสมอ

การมองโลกในแง่บวก และการมีความหวังเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากของ Resilience เป็นเรื่องธรรมดาที่บางคนจะมีนิสัยมองโลกในแง่ร้าย เพราะบางงานจำเป็นต้องตรวจสอบ ควบคุม และจับผิดเพื่อให้ทุกอย่างไม่ผิดพลาด แต่คนที่เป็นหัวหน้า จำเป็นต้องสร้างความสมดุลของมุมมองในเชิงบวกอยู่เสมอ เวลาที่มีทีมงานซักคนมาเล่นเกมโดยโอดครวญหรือสาธยายถึงแต่ปัญหา หัวหน้าควรต้องทำให้ทีมงานมองเห็นโอกาส บทเรียน และด้านดี ๆ รวมทั้งความหวัง ตลอดจนความกระตือรือร้นที่เชื่อมั่นว่า ปัญหาจะถูกแก้ไขในที่สุด หรือสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่เกินความสามารถของพวกเราที่จะจัดการ

3) ทำให้ทีมงานแต่ละคนมีความมั่นใจว่าตนเองมีความสามารถ

Self-efficacy หรือการรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาได้ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับ ‘Can do attitude’ ซึ่งเป็นอีกวัตถุดิบที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของ Resilience คนเราจะมีความหวังว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะผ่านพ้นไปได้ ก็ต่อเมื่อคนเราเชื่ออย่างแท้จริงก่อนว่า ตนเองมีความรู้ ความสามารถ และทักษะเพียงพอที่จะต่อกรกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งหัวหน้าทีมก็เป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยสะท้อนให้เจ้าตัวแต่ละคนมองเห็นคุณค่าในตัวเอง และมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาวางแผน แก้ไขปัญหา ที่ไม่ใช่เอาแต่โอดครวญหรือหนีไป ดังนั้นการให้ Feedback เชิงบวก รวมทั้งการชมเชย รวมทั้งให้เครดิตเมื่อทีมงานแต่ละคนทำได้ดี เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริม Self-efficacy รวมทั้ง Self-esteem ของทีมงาน

4) สร้างวัฒนธรรมในทีมที่สนับสนุนให้กำลังใจกัน

แรงใจและการสนับสนุนจากคนรอบตัวคือขุมพลังชั้นดีเมื่อบุคคลเกิดเผชิญกับความยากลำบากในชีวิต ทีมงานที่มีวัฒนธรรมที่คอยให้กำลังใจ รับฟังกันด้วยความเข้าใจ เป็นห่วงเป็นใย มี empathy ต่อกัน จะทำให้ทีมงานนั้นสามารถฝ่าฟันทุกปัญหาไปด้วยกันอย่างเข้มแข็ง แตกต่างจากทีมที่เย็นชาต่อกัน คุยกันแต่เรื่องงาน ไม่มีความสัมพันธ์แบบเพื่อนนอกเวลางาน หรือหนักกว่านั้นคือทีมที่คอยแต่จะปัดแข้งปัดขา ไม่ยอมเห็นใครได้ดีกว่า พร้อมที่จะเชือดเฉือนกันตลอดเวลา แบบนั้นทีมงานแต่ละคนจะยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว และขาดพลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหา เพราะแค่ต่อสู้กับเพื่อนร่วมงานในทีมก็หมดแรงแล้ว

หากการสนับสนุนกันและกันในทีมยังไม่เพียงพอ กรณีที่บางคนเผชิญกับปัญหาที่ใหญ่ โดยเฉพาะปัญหาทางจิตใจ ผู้นำอาจมองหาการสนับสนุนภายนอก ระบบสวัสดิการ หรือบริการให้คำปรึกษาโดยมืออาชีพอย่างนักจิตวิทยาร่วมด้วย

5) ทำให้ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้

ความพยายามอย่างไม่ลดละ แม้ครั้งแรก ๆ ยังไม่ประสบความสำเร็จ คือหัวใจสำคัญของ Resilience เป็นเรื่องเดียวกับ Growth Mindset ที่เชื่อมั่นในความพยายาม การปรับปรุงให้ดีขึ้น และไม่กลัวความผิดพลาดล้มเหลว หากหัวหน้าทีมต้องการส่งเสริม Resilience ในทีม ต้องไม่ทำให้แต่ละคนรู้สึกว่า การทำผิดพลาดแม้แต่เรื่องเล็กน้อยคือเรื่องคอขาดบาดตาย จนกระทั่งไม่มีใครกล้าเสี่ยงทำผิด หรือคอยแต่จะรอการอนุมัติและความเห็นจากหัวหน้าอย่างเดียว แม้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น แทนที่จะโวยวายหาคนผิดและลงโทษอย่างเดียว แต่หัวหน้าทีมควรต้องพาทุกคนมานั่งคุยกัน เพื่อถอดบทเรียน พร้อมทั้งระดมสมองว่า ครั้งต่อไปจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร พร้อมให้โอกาสและกำลังใจคนที่ทำผิด ได้มีโอกาสแก้ตัว

6) พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์โดยเฉพาะการบริหารความเครียดให้ทีมงาน

เมื่อเจอความความเครียดและกดดัน บุคคลจำเป็นต้องมีวิธีการจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ ไม่ให้สะสมหรือรุนแรงมากเกินไปจนส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ และการแสดงออก ที่อาจส่งผลเสียต่อการทำงาน รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เมื่อไหร่ที่มองเห็นว่าทีมงานเริ่มมีความเครียดที่เริ่มรับมือไม่ได้ หัวหน้าทีมจำเป็นต้องให้คำแนะนำรวมทั้งช่วยหาทางออกให้ อาจจะเป็นวิธีการผ่อนคลายความเครียด หรืออนุญาตให้ลาพักซักหน่อย เพื่อแยกตัวเองให้ออกห่างจากสาเหตุของความเครียด แล้วชาร์จพลังให้กลับมาสู้ต่อ

7) วางแผนลงมือทำร่วมกัน อย่างไม่ลดละ

การลงมือทำคือสิ่งที่จะช่วยให้ปัญหาคลี่คลาย หากมีแต่กำลังใจอย่างเดียว แต่ไม่ทำอะไรเลย บางเรื่องก็ไม่สามารถไปต่อได้ หัวหน้าทีมควรต้องให้ทีมงานได้ลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมโดยมีทั้งทีมหรือหัวหน้าช่วยวางแผนอย่างเป็นระบบ ทำให้ทุกคนเคยชินกับการคิดแล้วลงมือทำ ไม่ใช่แต่การเสนอไอเดีย หรือการให้กำลังใจกัน รวมทั้งการทำอย่างไม่ลดละ หากแผน A ใช้ไม่ได้ผล ก็ต้องให้ทีมงานเรียนรู้ที่จะปรับเป็น แผน B แล้วลงมือทำต่อ เป็นแบบนี้จนกว่าจะสำเร็จ แล้วเมื่อทุกคนเห็นความสำเร็จจากความพยายาม พวกเขาก็จะเรียนรู้และยึดเป็นหลักปฏิบัติต่อไป

การพัฒนา Resilience ไม่ใช่แค่หน้าที่ของบุคคล แต่หัวหน้าทีมและองค์กรเองต่างก็มีส่วนอย่างมาก ที่สำคัญคือ หัวหน้าเองก็ต้องมี Resilience สูงพอก่อน แล้วทีมงานจึงจะมองเห็นและยึดเป็นแบบอย่าง


ประวัติผู้เขียน

พิชาวีร์ เมฆขยาย

ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาองค์กร ผู้บริหาร iSTRONG Mental Health วิทยากร นักเขียนด้านจิตวิทยาเชิงบวก

M.Sc. จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ B.Sc. จิตวิทยา (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Positive Psychology Certified