เช็กด่วน! คุณเป็น “workaholic” จน Work Life Balance เสียอยู่หรือเปล่า

หลังจากที่เรา Work From Home กันมาอย่างยาวนาน ก็ได้เวลากลับไปทำงานที่เรารัก ณ ที่ทำงานตามปกติแล้ว แต่หลาย ๆ ท่านก็จะพบว่า มันมีสิ่งหนึ่งที่ไม่ปกติติดตัวมาด้วย นั่นก็คือ “workaholic” นั่นเองค่ะ โดยหลายท่านมักจะไม่รู้ตัว และอาจจะเคยชินกับวิถีชีวิตการทำงานเหมือนตอน Work From Home คือ ทำงานเมื่อตื่น และเลิกงานเมื่อนอน ซึ่งทำให้ Work Life Balance ของเราไม่มีเลย พอต้องกลับมาทำงาน   แบบปกติ ก็จะเกิดความรู้สึกกังวลว่างานจะไม่เสร็จ หรือไม่ดี หรือไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่เราเคยทำไว้ ก็เลยรีบไปทำงานแต่เช้าและกลับบ้านเสียดึกดื่น ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้ ก็จะชวนคุณผู้อ่านมาเช็กตัวเองดูกันค่ะว่าเรากำลังเป็น “workaholic” อยู่หรือเปล่านะ

โดย “โรคบ้างาน” หรือ Workaholic ได้ถูกนิยามโดย Wayne Edward Oates ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาค่ะ ทั้งนี้ Oates ได้อธิบายไว้ว่า “workaholic” คือ คนที่ทำงานหนักมาก หนักแบบไม่ได้พักไม่ได้ผ่อน จน Work Life Balance เสีย และที่สำคัญเลย ก็คือ คนที่เป็น “workaholic” จะไม่รู้สึกว่าตนเองผิดปกติอะไร ทำงานหนักคือคนขยัน ปกติดีนี้ แต่คนในครอบครัวคงไม่ได้คิดแบบนั้นค่ะ และที่ชัดเจนคือ ร่างกายและสภาพจิตใจของเราเองก็คงไม่ได้รู้สึกว่ามันปกติเช่นกัน เพราะเรารักงาน ไม่ได้หมายความว่างานจะรักเรา และถึงแม้จะมีคำกล่าวว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าใคร” แต่ถ้าทำงานหนักยาวไป ๆ มันจะทรมานเราด้วยโรค Office syndrome มะเร็ง อาการอักเสบตามส่วนสำคัญของร่างกาย โรคซึมเศร้า โรคเครียด โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือตอบแทนด้วยครอบครัวร้าวฉาน พอรู้ตัวอีกทีก็สายเกินแก้ไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้นแล้ว วันนี้ดิฉันจะขอชวนคุณผู้อ่านมาเช็กพฤติกรรมกันดูหน่อยนะคะ ว่าเราเข้าขั้น “workaholic” หรือยังนะ

1. ทำงานหนักมาก

หนักมากในที่นี้ คือ ทำหามรุ่งหามค่ำ ทำตั้งแต่ตื่นยันนอน นึกขึ้นมาได้ก็ทำงาน จนไม่รู้จักว่าอะไรคือวันหยุด โดยคนที่เข้าข่าย “workaholic” จะให้ความสำคัญกับการพักผ่อนเป็นลำดับท้าย ๆ ให้ความสำคัญกับงานเป็นลำดับแรก ๆ โดยไม่สนใจว่างานนั้นเร่งด่วนหรือไม่ แต่มีงานเข้ามาต้องทำให้หมด ทำให้เสร็จ

2. ใช้เวลาในการทำงานมากเกินกว่าที่ทำงานกำหนด

โดยปกติแล้ว เวลาในการทำงานมาตรฐานของเราอยู่ที่ 6 – 8 ชั่วโมง เพิ่ม OT ได้ด้วยเต็มที่ ก็ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง เพราะร่างกายเราจะล้า สมองเราจะตึงเครียด จิตใจเราจะห่อเหี่ยวเพราะกร่ำงานหนัก แต่สำหรับคนที่เป็น “workaholic” แล้ว การทำงานคือชีวิตของเขา เพราะฉะนั้นจัดมาอีกจ้า จัดมาเยอะ ๆ ทำทั้งวันโดยไม่นอนก็ได้ ซึ่งปัญหาการควบคุมเวลาทำงานไม่ได้จนกลายเป็น “workaholic” นี้ มักเกิดกับชาว Freelance ค่ะ เพราะไม่มีเวลางานเข้า-ออกงานตายตัว แล้วสุดท้ายเราก็จะป่วยหนักเหมือนยุ่น พระเอกเรื่อง Freelance ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ นั่นแล

3. งานทุกอย่างต้องดี ต้องเลิศ ต้องสมบูรณ์แบบ

มนุษย์ที่เป็น “workaholic” มักจะมาพร้อมกับบุคลิกแบบ Perfectionism คือ บกพร่องไม่ได้ ปล่อยวางไม่เป็น ทุกอย่างต้องเนี้ยบ ต้องดี ต้องเลิศ ทำงานทั้งทีต้อง the best คนที่เป็น “workaholic” ยอมรื้องานเพื่อทำใหม่ หรือใช้เวลาทำงานมากขึ้นเพื่อให้งานออกมาปัง ดีกว่างานเสร็จแล้วออกมาไม่ดีค่ะ เพราะงานคือหน้าตา คือชื่อเสียง คือชีวิตของเขา และแน่นอนว่า มักจะเกิดปัญหางานเสร็จไม่ทันเวลา หรือได้งานออกมาดีเลิศแต่ไม่ทันต่อการนำไปใช้ประโยชน์

4. หากทำงานน้อยลง หรือทำงานได้ไม่ตามเป้าจะรู้สึกผิดอย่างมาก

สำหรับคนที่เป็น “workaholic” วันหยุดคือวันที่เขาไม่มีความสุขที่สุด เพราะเป็นวันที่ไม่ได้ทำงาน แต่ถ้าคุณผู้อ่านเข้าข่าย “workaholic” จริง ๆ ก็ไม่น่ามีวันหยุดค่ะ เพราะจะหางานมาทำได้ตอด งานใน งานนนอก งานราษฎร์ งานหลวง งานได้เงิน ไม่ได้เงิน เอาเป็นว่าขอให้มีงานมาทำ ก็โอเคหมด เพราะถ้าไม่ได้ทำงานจะรู้สึกผิด ยิ่งถ้างานที่ทำออกมาไม่ได้ตามที่เขาหวัง ก็จะเกิดความรู้สึกที่ทางจิตวิทยา เรียกว่า Low Self esteem คือ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าลดลง

5. ไม่ฟังเสียงเตือนของคนรอบข้าง

ต่อให้ทุกคนที่เขารู้จักบอกว่า “บ้างานเกินไปแล้ว” หรือ “ทำงานหนักเกินไปแล้ว” แต่คนที่เป็น workaholic ก็หาได้แคร์ไม่ เพราะเขามักจะรู้สึกว่ายังทำงานน้อยเกินไป งานยังออกมาไม่ดีตามที่คาดหวังเลย และยังคงพยายามหาทางทำงานให้มากขึ้น นานขึ้น เพื่อให้งานออกมาดีมากขึ้นไปอีก

6. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างมีปัญหา เพราะเรื่องการทำงานที่มากเกินไป

เมื่อเวลาชีวิตทั้งหมดของคนที่เป็นworkaholic คือ การทำงาน เพราะฉะนั้นก็ไม่เหลือเวลาสำหรับการทานข้าวกับพ่อ แม่ การเล่นกับลูก การใช้เวลากับคนรัก การพบปะเพื่อนฝูง หรือแม้จะเงยหน้าจากงานมาคุยกับเพื่อนร่วมงาน ยังไม่มีเวลาเลยค่ะ จึงไม่แปลกที่คนที่เป็น workaholic จะติดอันดับ Toxic People ของที่ทำงาน หรือของคนในชุมชนค่ะ

7. เกิดปัญหาสุขภาพกาย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เนื่องจากการทำงานหนัก

เมื่อเราไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ความเจ็บป่วยก็มาเยือนเป็นธรรมดา แต่สำหรับคนที่เป็น “workaholic” แล้ว ความเจ็บป่วยไม่ใช่อุปสรรคในการทำงาน นอนโรงพยาบาลก็ทำงานได้ ว่าซั่น เลยไม่แปลกที่คนที่เป็น workaholic จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น กระเพาะอาหาร ริดสีดวง Office syndrome มะเร็ง โรคเครียด โรคซึมเศร้า เพราะไม่ได้พัก และไม่ใส่ใจนการรักษาค่ะ

คือข้อแนะนำของคนที่ทำงานหนักบ้างไม่หนักบ้าง และค่อนข้างให้ความสำคัญกับครอบครัวอย่างดิฉันเองนะคะ จากการทำงานมา 10 ปี ดิฉันเห็นคนเจ็บป่วย เสียชีวิต หรือมีปัญหาครอบครัว เพราะการทำงานหนักมาพอสมควร และได้เกิดข้อคิดว่า ถ้าเราเป็นอะไรไป ที่ทำงานก็หาคนมาทำแทนเราได้ แต่ครอบครัวเรา พวกเขามีแค่เรา ไม่มีใครมาแทนที่เราได้ หากเราเจ็บป่วย คนที่ดูแลเราก็ครอบครัว หากเราเสียชีวิต คนที่เสียใจก็คือครอบครัว และการที่ครอบครัวเรามีปัญหา ก็เพราะเราสำคัญกับเขามาก จนเมื่อเราไม่มีเวลาให้ ใส่ใจน้อยลง เขาก็ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จนเกิดปัญหาตามมาค่ะ

คุณผู้อ่านคะ การรับผิดชอบในงานที่ทำ เป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ และจะดีมากขึ้นไปอีกหากเราสามารถดูแลรับผิดชอบทั้งความเป็นอยู่ และความรู้สึกของคนในครอบครัวของเราไปพร้อม ๆ กันได้ด้วย เพราะฉะนั้นแล้วเรามารักษา Work Life Balance กันเถอะค่ะ

อ้างอิง : Zact Thailand.(6 พฤศจิกายน 2564).Workaholic. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2564 จาก https://www.facebook.com/942495169137529/posts/4562868650433478/


ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต